POLITICS

พี่สาว ‘วันเฉลิม’ ร่วมคุย กห. ทิ้งคำถามการใช้อำนาจโดยมิชอบของ คสช.

ด้าน ‘พรเพ็ญ’ ย้ำ การพูดคุยเป็นเรื่องดี แต่ต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย

วันนี้ (5 ก.ค. 65) นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมผู้ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เข้าร่วมพูดคุยกับกระทรวงกลาโหม หลังจากโฆษกกระทรวงฯ มีแนวคิดเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่มีความเห็นต่างมาร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน

นางสาวสิตานัน กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทางกระทรวงกลาโหมเปิดโอกาสให้เข้ามาร่วมพูดคุยกัน โดยประเด็นที่ถามทิ้งไว้ในวันนี้คือ กรณีที่ คสช. ออกคำสั่งโดยมิชอบทำให้วันเฉลิมต้องลี้ภัยและถูกบ้งคับให้สูญหาย รวมไปถึงผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่โดนหมายเรียกจากคสช.ให้มารายงานตัวหลังรัฐประหาร ส่วนคำตอบก็ต้องรอดูว่าอย่างไร ให้โอกาสท่านหน่อย เป็นการหาทางออกร่วมกัน แต่ไม่รู้ว่าทางออกจะตันหรือไม่ และหลังจากนี้จะมีคำตอบอะไรให้เรา มีคำตอบจริงจังไหม

นางสาวสิตานัน กล่าวต่อว่า บรรยากาศภายในห้องเป็นไปได้ด้วยดี และอยากได้คำตอบที่ไปในตอนนี้ และมีความรับผิดชอบต่อญาติผู้สูญเสียหรือไม่ รวมไปถึงบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ ที่เราต้องการทราบว่าหน่วยงานใดเป็นคนทำ ซึ่งทางโฆษกกระทรวงฯ ขอเวลาตรวจสอบ แม้ว่าเรารู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร แต่อยากได้ยินจากปาก ว่าใครเป็นคนทำและยอมรับด้วยตัวเองดีกว่า

ด้านนางสาวพรเพ็ญ ระบุว่า กระทรวงกลาโหมมีการพื้นที่มันเปิดก็จริง แต่ด้วยโครงสร้างและกฎหมายบ้านเมือง ทั้งรัฐธรรมนูญและพรก.ฉุกเฉิน ก็ยังทำให้โดนละเมิดสิทธิจากหลายรูปแบบอยู่ดี รวมไปถึงผู้เสียหายก็ไม่เข้าถึงความยุติธรรมได้ โดยความรับผิดชอบไม่ได้อยู่ที่กระทรวงกลาโหม แต่กระทรวงกลาโหมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องความมั่นคง ซึ่งหลายเรื่องเป็นเรื่องของโครงสร้าง ในปี 53 ยังไม่มีทหารรายใดถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแม้แต่รายเดียว แม้จะมีการสลายการชุมนุมที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 99 ราย รวมไปถึงหลังรัฐประหารปี 57 ที่บางคนถูกติดตามตัว มีบางคนในห้องพูดว่าเคยถูกเอาถุงคลุมศีรษะ หรือมีญาติต้องลี้ภัยไป บุคคลต่าง ๆ เหล่านี้ เราเชื่อว่าทางกระทรวงกลาโหมมีทั้งชื่อและประวัติ การเยียวยาและแก้ผลการกระทำที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐประหารยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม

นางสาวพรเพ็ญ ระบุต่อว่า ปัญหามันคือโครงสร้างไม่ใช่แค่การสนทนาพาทีที่พูดได้แค่เรายินดี โดยการแก้ไขที่เราพูดคุยกัน เป็นแค่ระดับการสนทนาไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง สังคมก็น่ากังวล เพราะเราไม่มีหลักประกันว่าจะมีการทำรัฐประหารอีกหรือไม่ และทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองหรือไม่ และการพูดคุยในครั้งนี้ไม่มีการคุกคาม ขู่ ไม่มีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารในมิติอื่น ๆ ที่เราเคยประสบมา

Related Posts

Send this to a friend