POLITICS

‘สุเทพ’ ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วย แก้ ม.112 บอก กังวลใจ ความเห็นต่างอาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ

‘สุเทพ’ ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วย แก้ ม.112  บอก กังวลใจ ความเห็นต่างอาจนำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ  พร้อม ชวน ปชช.ศึกษาให้ละเอียด ก่อนตัดสินใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 16.00 น วันนี้ (4 พ.ย.64) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ  ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย(มปท.)ได้เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP 4 ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว “Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” นายสุเทพ กล่าวว่าวันนี้ขอมาสนทนา ในเรื่องที่กำลังเป็นที่วิพากษ์ วิจารณ์ เป็นที่พูดจากันถี่ๆบ่อยๆ คือเรื่องของ การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 มีคนออกมาแสดงความคิดเห็นในสาธารณะ  ทั้งผู้ที่ต้องการจะแก้ไข กฎหมายอาญามาตรา 112 นี้  และผู้ที่ไม่เห็นด้วย

วันนี้ผมไม่ได้มาชวนพี่น้องประชาชนให้ไปวิพากษ์วิจารณ์ว่า คนที่เสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112  เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ถูกใจหรือไม่ถูกใจ  พวกเราประชาชนอย่างไร  ที่ยังไม่ต้องไปวิจารณ์ว่า ถูกใจหรือเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะยังไม่เห็นว่า ร่างกฎหมาย ที่เขาจะเสนอแก้ไขนั้น มีเนื้อหาสาระมีข้อความอย่างไร เขาจะแก้ส่วนไหนของมาตรา 112 หรือ เขาจะแก้ทั้งหมดเลย เรารอไว้ก่อน  รอไว้ให้เห็นร่าง ที่เขาเสนอมาก่อน แล้วเราค่อยมาวิพากษ์วิจารณ์   ในชั้นนี้ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร  เป้าหมายวัตถุประสงค์ ที่เขาตรากฎหมายฉบับนี้เอาไว้ เพื่ออะไรมีที่มาอย่างไร

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า อยากให้พี่น้องประชาชนได้ดูตัวกฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติไว้แบบนี้ว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี  ถึง 15 ปี  เนื้อหาสาระมีแค่นี้ เพราะฉะนั้นยังไม่รู้ว่าเขาจะแก้ตรงไหน หรือเขาจะเขียนขึ้นใหม่อย่างไร  เราถึงต้องติดตามดูกันตอนหลัง

นายสุเทพ กล่าวต่อว่าการตรากฎหมาย ขึ้นในประเทศ เป็นไปหลักการปกครองของบ้านเมือง เดิมทีประเทศไทยของเราปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อำนาจอธิปไตย อำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นของพระมหากษัตริย์ ทรงใช้พระราชอำนาจในการปกครองประเทศ เพื่อประชาชน  เพื่อพัฒนาประเทศ เพื่อความอยู่ดีกินดี ของพสกนิกรทั้งหลาย  แต่ว่าในปี 2475  เราได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศไทย  จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  มาเป็นระบอบประชาธิปไตย   ระบอบประชาธิปไตย ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ว่าจะต้องใช้อำนาจนั้นกันอย่างไร ก็มีข้อที่จะต้องบัญญัติเอาไว้ในทางกฎหมายเพราะระบอบประชาธิปไตย  เป็นระบอบการปกครอง  ที่ปกครอง โดยมีตัวบทกฎหมายเป็นหลักยึด เรียกว่าเป็นการปกครองตามหลักนิติรัฐ  นิติธรรม

กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ  ในเรื่องนี้ เมื่อเราเปลี่ยนแปลง การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว อุดมการณ์การปกครองของประเทศไทย เรายึดถือว่า เราจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย  ที่มีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุข องค์กรอื่นๆ ที่จะใช้อำนาจก็ต้องมีกรอบ  มีกติกาเขียนเอาไว้ ทั้งหมดอยู่ ในรัฐธรรมนูญ และฉบับที่ผมถือคือรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน   แต่ว่าตั้งแต่ฉบับแรกเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  เราก็ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ไว้ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก  มาจนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน  บัญญัติว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน บัญญัติว่าอย่างนี้  ว่า ประเทศไทย  มีรูปแบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  เป็นราชอาณาจักร เพราะเป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดิน บัญญัติไว้ในหมวดที่ 1 บททั่วไปแห่ง รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 1ว่า ประเทศไทย เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่ง อันเดียว จะแบ่งแยกไม่ได้ 

ในมาตรา 2 ชัดเลย ที่ว่าเป็นราชอาณาจักร นั้น คือประเทศไทยมีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข  ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข  เรียกว่าราชอาณาจักร ทุกแห่งในโลก ยังมีประเทศที่ปกครองที่เป็นราชอาณาจักรมากมาย หลายสิบประเทศทั่วโลก   ส่วนอำนาจอธิปไตยที่เป็นของประชาชนก็บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า  พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงใช้พระราชอำนาจเหล่านี้  อำนาจในประเทศไทยตรากฎหมาย  อำนาจในการบริหารประเทศและอำนาจในการพิจารณาคดีความทั้งหลาย บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในมาตรา 3 บัญญัติเอาไว้ว่า อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข  ใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี และ ศาล ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้  และมีบัญญัติ เรื่องหน้าที่ของแต่ละฝ่ายเอาไว้ว่า จะต้องทำหน้าที่นั้นจะเป็น รัฐสภา  คณะรัฐมนตรี และ ศาล ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามหลักนิติธรรม  ผมถึงเรียนว่าสำคัญครับ หลักนิติธรรม คือต้องเป็นไปตามหลักกฎหมาย กฎหมายว่าอย่างไรต้องปฏิบัติตามนั้น

ในส่วนที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์  ในรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะคือ บทบัญญัติในหมวดที่ 2 พระมหากษัตริย์  ผมจะยกมาให้พี่น้องประชาชนได้เห็น บทบัญญัติ ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ว่า องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะที่เป็นที่เคารพ สักการะ  ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์  ในทางใดๆมิได้  ตรงนี้เป็นเรื่องสากลที่เขาทำกันทุกประเทศ เขาจะต้องมีกฎหมาย เพื่อปกป้องประมุขของประเทศ  ที่ดำรงฐานะ อยู่ในฐานะสูงสุด  เป็นศูนย์รวมใจของคนทั้งประเทศ  ไม่ว่าจะปกครองในระบอบ ที่มีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข  หรือ จะเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐ ที่มีประธานาธิบดี เป็นประมุขก็ตาม  ต้องมีกฎหมายแบบอย่างนี้  นี่ก็คือที่มาของกฎหมายอาญามาตรา 112

เราตรากฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้น เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์  ไม่ให้ผู้ใดละเมิด จริงๆแล้ว ของเรา เราไม่ได้ปกป้องเฉพาะพระมหากษัตริย์   ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศเรา  เรามีกฎหมายอาญามาตรา 133 ปกป้องประมุขของรัฐอื่น  ประเทศอื่นเช่นเดียวกัน   ข้อความเหมือนกันเลย สาระในกฎหมายที่บัญญัติไว้   มีข้อความเหมือนกัน  มาตรา 133 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย  ราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ ต้องระวางคุกจำโทษ ตั้งแต่ 1 ปี  ถึง 7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 1 แสน 4 หมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ

พี่น้องประชาชนเห็นไหม เรามีกฎหมายอาญาปกป้องทั้ง พระประมุขที่เป็นพระมหากษัตริย์ของเรา และเราให้เกียรติ ปกป้องประมุขของประเทศอื่น และลองนึกดูว่า ถ้าเราไม่เขียนปกป้อง ประมุขของประเทศอื่นไว้ หากมีคนไทยคนไหนเครื่องร้อนขึ้นมา ไปหมิ่นประมาท ไปดูหมิ่น หรือไปแสดงความอาฆาตมาดร้าย ประมุขประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือพระราชาธิบดี หรือ ประธานาธิบดี ถ้าเกิดมีคนไทยทำอย่างนั้นขึ้นมา เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ประชาชนเขาก็คงไม่ยอมว่า ทำไมคนไทยถึงไปล่วงละเมิดดูหมิ่นประมุขของประเทศเขา อันนี้ก็เรียกว่า เป็นสงครามได้ เป็นเรื่องใหญ่ได้

นายสุเทพ กล่าวต่อว่าสิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา เรื่องการ ปกป้องประมุขของประเทศจึงเป็นหลักสากล ประเทศอื่นเขาก็ทำกันทั้งนั้น พี่น้องประชาชนไปอเมริกา  อยู่ดีๆ จะไปยื่นด่าประธานาธิบดี หรือ ไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อประธานาธิบดีของเขา ก็จะถูกกฎหมายของเขาดำเนินการลงโทษจำคุก นี่เป็นเรื่องที่เป็นปกติสากล ที่นี้ในประเทศของเรา เพราะคนไทยมีความกตัญญู รู้คุณ ต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเพณี การปกครองของประเทศ เราจึงได้มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และบทบัญญัติของกฎหมายอาญา มาตราอื่นรองรับในกฎในกติกาของรัฐธรรมนูญ

พี่น้องประชาชนต้องติดตามว่า มาตรา 112 ที่มีบทบัญญัติห้ามไม่ผู้ใดไปหมิ่นประมาท หรือ ไปดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ  ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ถ้าเห็นแค่นี้ เข้าใจตรงนี้ เราก็จะได้ติดตามได้ว่า แล้วคนที่เขาตั้งใจ จะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้ เขาคิดอะไร เขาต้องการทำอะไร เพื่อเป้าหมายอะไร มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย ที่คนไทยจะต้องมาทะเลาะกันในเรื่องนี้   แต่ว่าที่ต้องเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อก่อนมันไม่เคยมีใครคิด ที่จะไปดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรือ จะไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์

เพราะฉะนั้นคนไทย ก็เลยไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่มีใครเดือดร้อนที่กฎหมายอาญามาตรา 112 บัญญัติเอาไว้ว่า ไม่ให้หมิ่นประมาท หรือไม่ให้แสดงออกความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เพราะไม่มีคนไทยคนไหนเขาคิดทำอย่างนั้น แล้วทุกคนก็คิดว่าที่ตรากฎหมาย แบบนี้ไม่กระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่  อนาคตของใครเลย แต่วันนี้พอจะมีคนมาติดแก้ไขก็เลยต้องไปดูว่า ทำเพื่ออะไร สำคัญครับ

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ผมกังวลใจลึกๆ ว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งของคนในประเทศ  วันนี้มี 3 ฝ่ายในประเทศ  ฝ่ายหนึ่งต้องการแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 อีกฝ่ายไม่เห็นด้วย แต่ ฝ่ายที่สามไม่รู้จะคิดอย่างไร  เพราะไม่รู้ว่าเรื่องที่เขาคิดจะแก้ไข หรือ เรื่องที่เขาไม่ต้องการจะแก้ไข เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ผมถึงได้มาชวนพี่น้องประชาชนพูดคุยกันว่า เราต้องให้ความสนใจกัน  ในฐานะที่เราเป็นคนไทย เราเป็นเจ้าของประเทศนี้ สิ่งที่มีคนคิด สิ่งที่มีคนต้องการกระทำ และ มีคนไม่เห็นด้วย จะมีผลกระทบต่อชีวิตของคนไทยทั้งหมด จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยของเราโดยรวม เพราะฉะนั้นในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย วันนี้ไม่สนใจไม่ได้แล้ว 

จึงชวนพี่น้องมาช่วยกันติดตามศึกษา และเราต้องร่วมกันตัดสินใจ พี่น้องประชาชนคนไทยได้ใช้อำนาจอธิปไตยในทางนิติบัญญัติ โดยเลือก ส.ส. เลือกวุฒิสมาชิกเข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ  ในทางออกกฎหมายแก้กฎหมายแทนพวกเรา  เมื่อกฎหมายนั้นจะต้องมีผลต่อประเทศโดยรวม  เราจึงจำเป็นต้องสนใจ  จะได้รู้ว่าตัวแทนที่เราเลือกไป ไปทำงานอย่างเราต้องการ หรือตรงกับใจเราหรือเปล่า วันนี้จึงได้มาคุยกันในเรื่องเนื้อหาสาระที่มาที่ไปของกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อจะได้ติดตามสถานการณ์ได้ทันและเมื่อต้องแสดงความเห็นเมื่อถึงวันนั้นจะได้แสดงความคิดเห็นได้ถูกต้อง

นายสุเทพกล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือความสงบสุขของบ้านเมืองความผาสุก ของพี่น้องประชาชน  เราไม่ต้องการมีความขัดแย้งที่รุนแรงเกิดขึ้นในประเทศอีก ในทางประชาธิปไตยประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย คนในประเทศมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันได้แต่ว่าต้องตัดสินกันด้วยเหตุผล คนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ตัดสินว่าความถูกต้องความมีเหตุมีผลที่แท้จริงเป็นอย่างไรคนส่วนใหญ่ก็คือพี่น้องประชาชน

เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปกฎมายอาญามาตรา 112 มานั่งดูแล้วติดตามว่า เราอ่านกฎหมายฉบับนี้แล้วเรารู้แล้วนะว่าเขาห้ามไม่ให้ไปหมิ่นประมาท ไม่ไปดูหมิ่น ไม่ให้ไปแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการถวายพระเกียรติยศ ถวายสักการะในฐานะที่พระองค์ท่านเป็นประมุขของประเทศ ซึ่งเหมือนประชาชนในประเทศอื่นทั้งหลาย  ที่เขาให้ความเคารพยกย่องประมุขของประเทศเขา  

เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว  เราถึงจะรู้ได้ว่าและเราจะคิดเห็นอย่างไร กับการที่มีคนต้องการแก้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112   จะได้มาพินิจ พิจารณา พิเคราะห์ว่าตรงใจ เราหรือเปล่า ถูกใจเราหรือเปล่าหรือเป็นประโยชน์กับประเทศไทยโดยรวมหรือเปล่า

ผมสารภาพเลยว่าผมยืนอยู่ข้างฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเห็นว่าที่บัญญัติไว้แค่นี้ เหมาะสมถูกต้องแล้ว สำหรับประเทศไทยของเรา อยากเอาความคิดตรงนี้  มาจุดประกายความคิดในใจของพี่น้องประชาชนว่า ผมคิดถูกหรือเปล่าที่คิดอย่างนี้พี่น้องประชาชนที่เป็นคนไทยแบบผมคิดเห็นแบบผมกันหรือเปล่า วันหลังเราจะมาคุยกันถึงเนื้อหาสาระในร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112ที่พรรคการเมืองพรรคต่างเขากำลังจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภา

Related Posts

Send this to a friend