POLITICS

นายกฯ ประชุม กพอ.เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงฯ

นายกฯ ประชุม กพอ.เดินหน้ารถไฟความเร็วสูงฯ บนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็นธรรมทุกฝ่าย ยืนยันประเทศและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมขอทุกฝ่ายร่วมมือขับเคลื่อน EEC ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้สร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

วันนี้ (1 มี.ค. 66) ที่ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) (EEC) ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำถึงการขับเคลื่อนโครงการ EEC ว่า เป็นโครงการสำคัญของรัฐบาลในการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ โดยที่ผ่านมาการพัฒนาโครงการภายใต้ EEC ยังมีปัญหาติดขัดอยู่บ้างทำให้การพัฒนาไม่เป็นไปตามเป้าหมายในบางกิจกรรม ซึ่งปัญหาหลายอย่างไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล เช่น ผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

ทั้งนี้การพิจารณาประเด็นหลัก ๆ ของที่ประชุมวันนี้ จะเป็นเรื่องของการแก้ไขปัญหาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งทั้ง 2 โครงการถือเป็นโครงการหลักที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของ EEC ในภาพรวม จึงขอให้กรรมการทุกคนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ 

รวมทั้งขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนร่วมมือกันดำเนินการต่าง ๆ อย่างสุดความสามารถ ควบคู่กับการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคมอย่างต่อเนื่อง ทั้งคนในพื้นที่และในวงกว้างเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการพัฒนา EEC เป็นการพัฒนาในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งหากเกิดปัญหาในการดำเนินการทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกันพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน โดยในกระบวนการหาทางออกของภาครัฐยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญและมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา การพัฒนาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ควบคู่กับการพิจารณาเรื่องผลประโยชน์ให้กับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และเจ้าของโครงการ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย กองทัพเรือ ชี้แจงด้วยหลักการและเหตุผลเป็นในแนวทางเดียวกัน
 
สำหรับที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุม กพอ. มีมติเห็นชอบหลักการเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย กรณีเกิดผลกระทบจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ทั้งจากสถานการณ์โควิด -19 ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน ซึ่งส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจำนวนยอดผู้โดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ที่ลดลงอย่างมากในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งทุกฝ่ายได้พยายามหาแนวทางร่วมกันแก้ไขอย่างรอบคอบ บนหลักการไม่ขัดต่อกฎหมาย อยู่บนความร่วมมือรัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน ซึ่งหลักการบรรเทาผลกระทบที่สำคัญ

โดยเสนอการปรับสัญญาตามขั้นตอนของกฎหมาย ประเด็นให้เอกชนผ่อนชำระค่าสิทธิร่วมลงทุนโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) โดย รฟท. ได้รับค่าสิทธิฯ ครบจำนวน 10,671 ล้านบาท บวกดอกเบี้ยและค่าเสียโอกาสของ รฟท. อีกจำนวน 1,060 ล้านบาท 

รวมทั้งเอกชนยังรับภาระหนี้ตามเดิม ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่รัฐไม่เสียประโยชน์ สร้างความเป็นธรรม และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินสมควร พร้อมช่วยให้บริการ ARL เกิดความต่อเนื่อง ประชาชนเดินทางได้สะดวกยิ่งขึ้น รฟท. ไม่ต้องรับภาระขาดทุน และได้รับดอกเบี้ยชดเชยค่าเสียโอกาสครบถ้วน ภาคเอกชนสามารถแก้ปัญหาการเงิน รับสิทธิ์ เดินรถ ARL พร้อมปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการให้ดีขึ้นได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กพอ.จะนำเสนอให้ ครม.เพื่อทราบ พร้อมมอบหมาย บอร์ด รฟท.พิจารณาการเสนอขอแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ดี ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ขณะนี้ รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่ ช่วงสถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 160 กม. และพื้นที่บริเวณมักกะสัน (TOD) จำนวน 140 ไร่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหากเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน (BOI) สามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันทีโดยคาดว่าการก่อสร้างและทดสอบระบบ พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 

เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา และจะสามารถเชื่อมโยงการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เชื่อมกรุงเทพฯ สู่พื้นที่อีอีซี ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ เพิ่มรายได้การท่องเที่ยว สร้างประโยชน์ตรงถึงชุมชน เกิดการจ้างงานภาคธุรกิจ ไม่น้อยกว่า 100,000 อัตราใน 5 ปี ภาคแรงงานก่อสร้างไม่น้อยกว่า 16,000 อัตรา ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกสู่ประเทศไทย

นอกจากนี้ กพอ. ได้รับทราบถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสนามบินให้เอกชนแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ร่วมกันอีกครั้ง และ กพอ. ได้มอบหมายกองทัพเรือเริ่มขั้นตอนจ้างผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 เพื่อให้เงื่อนไขสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน คาดว่าเดือนเมษายน 2566 สกพอ. สามารถแจ้งให้เริ่มนับระยะเวลาพัฒนาโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ภาคตะวันออกได้

Related Posts

Send this to a friend