ก.คลัง ปลื้ม ชาวใต้แห่ร่วมงาน “ร่วมใจแก้หนี้” เผยยอดผู้เข้าร่วมงานกว่า 5,700 ราย
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ล่าสุดจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 ใน จ.สงขลา โดยร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ประกอบด้วย 4 สถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK),ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.),ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ ของภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงปัญหาหนี้ของภาคประชาชน จึงได้กำหนดให้การแก้ไขหนี้เป็นวาระแห่งชาติ
นายพรชัย กล่าวว่า “ทั้งนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาโควิด-19 ปัญหาความขัดแย้งในยุโรป ส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนการเงิน พุ่งสูงขึ้น นำมาซึ่งปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้เกิดหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคประชาชนพุ่งสูงขึ้นถึง 89% รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ และเป็นภารกิจของกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยมีทั้งสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีข้อตกลงที่จะร่วมมือกันแก้ไขหนี้ ประนอมหนี้ให้ประชาชนหลุดพ้นจากกับดักหนี้ และผลของการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 5 ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีจำนวนผู้สนใจขอรับบริการภายในงานมากกว่า 5,700 ราย”
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “การแก้หนี้ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง แม้ไม่มีการจัดงานมหกรรม ก็สามารถเข้าไปปรึกษาแก้หนี้ที่สาขาต่างๆ ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนได้ นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือขยายผลการแก้หนี้ลงไปเฉพาะกลุ่ม โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการแก้หนี้สินครู กระทรวงแรงงานช่วยเหลือหนี้ให้กับกลุ่มแรงงาน”
“นโยบายของรัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้ และหาทางออกไม่ได้ แม้ว่าสถิติของหนี้สินครัวเรือน ทั้งประเทศอยู่ที่ 89 % ของจีดีพีและการมีโครงการมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ฯ ลดสัดส่วนหนี้ลงมาได้เล็กน้อยเท่านั้น เพราะการแก้ไขไม่ได้ทำให้หนี้หมดไป เพียงแต่เป็นหนี้สินที่จัดการได้ เพราะก่อนหน้านี้ประชาชน ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ไม่มีรายได้เข้ามา เพราะประสบปัญหาโควิด-19 ปัญหาเงินเฟ้อ ข้าวของแพง ราคาพลังงานปรับขึ้น ซึ่งการเข้ามาร่วมโครงการแก้หนี้ จึงมีทั้งการช่วยเหลือ พักชำระหนี้ ปรับวงเงิน ปรับงวด ลดต้นลดดอกเบี้ยหรือลดกำไร สำหรับลูกหนี้ไอแบงก์ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อประคับประคองให้กับประชาชน พอเข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็สามารถชำระหนี้ได้ต่อ รวมถึงการเติมทุนให้สามารถเริ่มต้น หรือขยายธุรกิจได้ต่อไป”