HEALTH

สวรส.- สมิติเวช พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลรับมือ “เด็กแพ้อาหาร”

ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ล่าสุดเผยถึงความร่วมมือในการดำเนินงานวิจัย เรื่องการประเมินความพร้อม ของโรงเรียนในการดูแลเด็กนักเรียนที่แพ้อาหาร พร้อมกันนี้ได้พัฒนาสื่อทางดิจิทัลบนแอพพลิเคชั่นไลน์ และระบบโทรเวชกรรม เพื่อให้ความรู้ในการดูแลเด็กให้กับบุคลากรของโรงเรียน และผู้ปกครองในการรักษาโรคแพ้อาหาร ร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช บริษัท True Digital Group จำกัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขับเคลื่อนการสร้างองค์ความรู้ แก้ปัญหาการแพ้อาหารในเด็กไปสู่วงกว้าง

ดร.จุไรรัตน์ กล่าวว่า “ การพัฒนาแอพพลิเคชันที่เป็นสื่อความรู้ และพัฒนาระบบการประเมินความพร้อมของโรงเรียน ในการดูแลนักเรียนที่แพ้อาหาร พัฒนาระบบการดูแลสุขภาพเด็กให้กับบุคลากรและทีมสุขภาพของโรงเรียน ให้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการดูแลเด็กที่แพ้อาหารในโรงเรียนได้ ตลอดจนการสนับสนุนการพัฒนา ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ในการดูแลรักษาและส่งต่อผู้ป่วย โดยมีภาคเอกชนอย่าง True Digital มาช่วยในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะเป็นอีกงานวิจัย ที่จะสามารถขยายผล ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยนำไปใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศได้ในอนาคต และส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะ กลุ่มเด็กนักเรียนที่แพ้อาหาร มีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“สำหรับสาเหตุของโรคแพ้อาหาร ในอดีตส่วนมากมักเกิดจากกรรมพันธุ์ ขณะที่ในปัจจุบัน ผู้ป่วยเด็กแพ้อาหารเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวทั่วโลก ซึ่งอาจเกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ในการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารที่สะอาด ทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคน้อยลง ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เคยต่อสู้กับเชื้อโรค หันไปต่อสู้กับสารอาหารที่เข้าสู่ร่างกายแทน ถือเป็นการทำงานที่ผิดปกติต่อภูมิคุ้มกันในร่างกาย”

ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นพ.ปกิต วิชยานนท์ สถาบันโรคภูมิแพ้สมิติเวช โรงพยาบาลสมิติเวช นักวิจัย สวรส. กล่าวว่า “งานวิจัยต่างประเทศว่า 10% ของการแพ้อาหารในเด็ก มักเกิดขึ้น
ที่โรงเรียน และจากการสำรวจในโรงเรียนที่มีนักเรียนอย่างน้อย 350 คนต่อโรงเรียน พบว่า แต่ละโรงเรียนจะพบการแพ้อาหารที่โรงเรียน อย่างน้อย 1.3 คนต่อปี และ 1 ใน 15 โรงเรียน จะพบการแพ้อาหารในนักเรียนที่มีอาการรุนแรง รวมถึง 1 ใน 24 โรงเรียน มีความจำเป็นต้องใช้ยาฉีด adrenaline เพื่อการรักษา ส่วนชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุ ของการแพ้ได้มากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ นมวัว ไข่ขาว ไข่แดง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง แป้งสาลี และอาหารทะเล โดยในประเทศไทยพบว่า นมวัวและไข่เป็นสาเหตุ ของการแพ้อาหารมากที่สุดในเด็กเล็ก ส่วนอาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้ง เป็นสาเหตุการแพ้อาหารที่พบมากในเด็กโต และในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้ป่วยที่แพ้แป้งสาลี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในประเทศไทยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

“งานวิจัยดังกล่าวได้ดำเนินการประเมิน ภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าในบทบาทของโรงเรียน มีความพร้อมในการรับมืออย่างไร ซึ่งเบื้องต้นพบว่ามีบางโรงเรียน เริ่มมีการจัดทำทะเบียนนักเรียนที่แพ้อาหาร และวางแผนการอบรมให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้องบ้างแล้ว โดยระหว่างนี้งานวิจัยได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อการเก็บข้อมูลที่ครอบคลุม 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ ระบบการจัดเก็บข้อมูล การลงทะเบียน และการประเมินความพร้อมของโรงเรียน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อจัดทำสื่อดิจิทัลที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรค และการดูแลเบื้องต้นที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันทีที่พบอาการ

“ในรูปแบบของ Line Official Account (Line OA) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่าย และมีเมนูต่างๆที่เป็นประโยชน์กับผู้ปกครองและโรงเรียน เช่น ความรู้เกี่ยวกับโรคแพ้อาหาร การลงทะเบียนและทำแบบประเมิน เมนูสำหรับผู้แพ้อาหาร การรักษาโรคแพ้อาหาร ฯลฯ ซึ่ง Line OA ดังกล่าว สามารถรองรับการใช้งาน ที่จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นได้ รวมทั้งสามารถต่อยอด ไปสู่การให้บริการปรึกษาทางการแพทย์ ด้วยรูปแบบออนไลน์ได้อีกด้วย และสื่อดิจิทัลดังกล่าว สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้อย่างสะดวกและทั่วถึง ทั้งนี้สำหรับผู้ปกครองและทีมสุขภาพในโรงเรียน ที่มีความสนใจในเรื่องโรคแพ้อาหาร สามารถ add Line OA : FoodAllergyFREE School Program เพื่อเป็นตัวช่วยให้รู้เท่าทันโรค และป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลถึงชีวิตของเด็กๆ ได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จาก Line OA จะสามารถนำไปปรับปรุงมาตรฐาน การดูแลเด็กที่แพ้อาหารในโรงเรียน เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ของเด็กทั้งที่บ้านและโรงเรียน โดยงานวิจัยดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จ และขยายผลการใช้ประโยชน์ในเดือน ก.ค. 2566 นี้”

Related Posts

Send this to a friend