HEALTH

ตรวจดีเอ็นเอ ทางลัดดูแลสุขภาพ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลป้องกันโรคในอนาคต

พญ.กชกร เจริญผลพิบูลย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน คลินิกดูแล ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) เผย การตรวจดีเอ็นเอ หรือ Genetic Testing เป็นการตรวจรหัสพันธุกรรม เสมือนการตรวจหาต้นทุนสุขภาพ ที่มีติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งแต่ละคนจะมีรหัสพันธุกรรม ที่ควบคุมการแสดงออกแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา สีผม รูปลักษณ์ภายนอกต่างๆ รวมถึงระบบการทำงานภายในร่างกาย ที่บ่งชี้โอกาสของการเกิดโรค หรือความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจส่งผลในอนาคต

ซึ่งเรามักคุ้นเคยและเข้าใจว่าการตรวจดีเอ็นเอ เป็นการตรวจหาความสัมพันธ์ทางสายโลหิต หรือการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล แต่ทราบหรือไม่ว่ามีการตรวจดีเอ็นเอ อีกประเภทหนึ่ง ที่ช่วยในการวิเคราะห์สุขภาพ เสมือนการไขรหัสลับชีวิตของแต่ละบุคคล ทำให้ทราบความเสี่ยง ไม่เพียงกับโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดผ่านทางสายเลือด ยังทราบถึงความเสี่ยงของโรค ที่เกิดจากพฤติกรรมของแต่ละคน เช่นจากพฤติกรรมการกิน การนอน การออกกำลังกาย หรือจากความเครียด เป็นต้น เพราะความเสี่ยงจากโรคทางพันธุกรรม ไม่ได้มีแค่โรคมะเร็ง หรือโรคที่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่ปัจจัยที่สำคัญมากยิ่งกว่าคือ พฤติกรรมที่นำพาไปสู่การเกิดโรค

พญ.กชกร กล่าวว่า “การตรวจดีเอ็นเอ ไม่ใช่การวิเคราะห์โรค แต่เป็นการดูแลภาวะสุขภาพ และนำข้อมูลมาวางแผนในอนาคต เพื่อไม่ให้เป็นไปตามภาวะที่น่ากังวลเหล่านั้น เหมือนมี “แผนที่” มีพิมพ์เขียวของร่างกาย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเดินไปตามแผนที่นั้นก็ได้ แต่สามารถหลีกเลี่ยงหาเส้นทางที่ดีกว่า สามารถดูแลป้องกันได้ล่วงหน้า หรือเพื่อชะลอการเป็นโรคให้ช้าลง เพื่อยืด Health Span คือช่วงเวลาที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีให้ยาวขึ้น”

“ปัจจุบันด้วยกระแสของเวชศาสตร์เชิงป้องกัน เป็นที่นิยมมากขึ้น คนจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บป่วย เพราะแม้จะกินคลีน หรือมีวินัยในการดูแลสุขภาพดีเพียงใด แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคที่ส่งผ่านทางอากาศและการสัมผัส มลภาวะในสิ่งแวดล้อม PM 2.5 เป็นต้น การตรวจดีเอ็นเอจึงเป็นอีกตัวช่วยของการวางแผนดูแลสุขภาพ ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงต่อโรคได้”

“การตรวจดีเอ็นเอในปัจจุบัน ไม่ได้มุ่งเน้นความสำคัญ ไปแค่เรื่องบอกความเสี่ยงของโรค แต่ในกรณีของเด็กเล็ก การตรวจดีเอ็นเอยังทำให้ทราบถึง สมรรถภาพทางร่างกาย และความถนัดต่างๆ เช่น ความถนัดทางภาษา ทางคณิตศาสตร์ ทางดนตรี กีฬา หรือศิลปะ เป็นต้น ผู้ที่เข้ารับการตรวจดีเอ็นเอมีทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็ก คนหนุ่มสาววัยทำงานไปจนถึงคนสูงวัย โดยเฉพาะในช่วงอายุราว 40 ปี ซึ่งมักมีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ใช้การตรวจดีเอ็นเอ เพื่อการนำข้อมูลที่ได้เทียบเคียง กับข้อมูลสุขภาพ ณ ปัจจุบัน เสมือนเป็นตัวช่วยเพิ่ม เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ขณะเดียวกันก็มีพ่อแม่หลายคน ที่พาลูกเข้ารับการตรวจ เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนชีวิต ให้ลูกตามทักษะความถนัด หรือถ้ามีพันธุกรรมที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรค แพทย์ผู้ชำนาญการ จะช่วยวางแผนด้านสุขภาพได้ด้วย โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังเล็ก”

“สำหรับกระบวนการตรวจดีเอ็นเอ ที่คลินิกดูแล ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก ใช้วิธีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม (Buccal Swab) จึงทำได้ง่าย ไม่เจ็บเพราะไม่ต้องเจาะเลือด และใช้เวลารวดเร็ว เพียงงดน้ำและอาหาร ไม่แปรงฟันหรือทำความสะอาดช่องปาก 2 ชั่วโมงก่อนการเก็บตัวอย่าง ใช้เวลารอผลประมาณ 1 เดือน จะได้ผลออกมาเป็นรายงานพิมพ์เขียวของร่างกาย ใช้เสมือนเป็นคู่มือดูแลสุขภาพ โดยจะมีแพทย์ผู้ชำนาญการเป็นผู้อ่านแปลผล และแนะแนวทางการดูแลสุขภาพระยะยาว ให้อย่างตรงจุด”

“ดีเอ็นเอเหมือนเป็น “สมบัติ” ที่ได้มาจากพ่อแม่ สิ่งที่ได้จากการตรวจดีเอ็นเอคือ “หนังสือชีวิตส่วนตัว” เป็นแผนที่ที่ทำให้รู้จักตัวเอง และสามารถวางเป้าหมายการดำเนินชีวิตได้ว่า ควรหรือไม่ควรเดินไปทางไหน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรค ณ ปัจจุบัน มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในวันนี้ และแม้ว่าจะตรวจดีเอ็นเอแล้ว ยังจำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูว่า สุขภาพองค์รวมปัจจุบันเป็นอย่างไร ฯลฯ เพราะผลจากการตรวจดีเอ็นเอ เป็นการคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มความเสี่ยงโรคมากกว่าผู้อื่น แต่ภาวะสุขภาพปัจจุบัน ต้องตรวจสุขภาพจึงจะทราบ การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการก่อนจึงไปพบแพทย์ เพราะโรคบางโรคไม่ได้ออกอาการจนวันที่เป็นหนักมากๆ และอาจทำให้รักษาไม่ทันท่วงที”

“ทั้งนี้รายงานการตรวจดีเอ็นเอ จะแสดงผลอัตราความเสี่ยงเป็น “สีเขียว” (ผ่าน) และ “สีแดง” (เสี่ยง) และแม้ว่าตรวจแล้วจะได้ผลเป็น “สีเขียว” แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็น เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตนั้นสำคัญมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น มลพิษ PM 2.5 ความเครียด ฯลฯ ที่ทำให้เปลี่ยนจาก ”สีเขียว” เป็น “สีแดง”

Related Posts

Send this to a friend