HEALTH

อย. เผย เช็คสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ช่วยคำนวนแคลอรี่ เลือกอาหารเหมาะกับร่างกาย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และภาวะไตวายเรื้อรัง ได้กลายเป็นปัญหาสุขภาพ อันดับหนึ่งของประเทศไทย โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีพลังงาน ไขมัน โซเดียม และน้ำตาลสูง ดังนั้นการลดความเสี่ยงด้วยการเลือกบริโภคอาหาร ที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” สามารถช่วยคุณได้

สำหรับสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) เป็นเครื่องหมายบนฉลากอาหารที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้น มีปริมาณสารอาหารผ่านเกณฑ์ที่กำหนด และมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสม โดยเฉพาะปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ผลิตภัณฑ์ที่ได้สัญลักษณ์นี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย และหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

ประโยชน์ของสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ”

1.ช่วยให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีคุณค่าโภชนาการที่เหมาะสมต่อสุขภาพมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกัน

2.ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม ตระหนักถึงการปรับสูตรอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการมีภาวะโภชนาการที่ดีของผู้บริโภค

ทั้งนี้กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่จะพบ สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” แสดงบนฉลาก มีจำนวน13 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มอาหารมื้อหลัก (Meal)

2.กลุ่มเครื่องดื่ม (Beverage) ได้แก่ น้ำผัก/น้ำผลไม้ 100% น้ำผัก น้ำผลไม้ น้ำอัดลม และน้ำหวาน
กลิ่นรสต่างๆ เครื่องดื่มธัญพืช น้ำนมถั่วเหลือง เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ มอลต์สกัด และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนประกอบของนมหรือโปรตีน ชาปรุงสำเร็จ กาแฟปรุงสำเร็จ

3.กลุ่มเครื่องปรุงรส (Seasoning) ได้แก่ น้ำปลา ซอสปรุงรส และซีอิ๊ว ซีอิ๊วดำ ซีอิ๊วหวาน น้ำจิ้มหวาน (เช่น น้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มบ๊วย) ซอสหอย ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ซอสอื่นๆสำหรับจิ้ม (เช่น ซอสเปรี้ยว น้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มแจ่ว น้ำจิ้มข้าวมันไก่) ซอสอื่นๆสไตล์ตะวันตก (เช่น ซอสบาร์บีคิว ซอสมัสตาร์ด) น้ำจิ้มสุกี้

4.กลุ่มผลิตภัณฑ์นม (Dairy product) ได้แก่ น้ำนมสด น้ำนม นมผง (นมรสธรรมชาติ นมจืด) นมปรุงแต่ง ผลิตภัณฑ์ของนม นมเปรี้ยว (ชนิดกึ่งแข็งกึ่งเหลว และชนิดพร้อมดื่ม) ผลิตภัณฑ์นมชนิดผง
5.กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป (Instant food) ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มและโจ๊กที่ปรุงแต่ง แกงจืดและซุปชนิดเข้มข้น ชนิดก้อน ชนิดผง หรือชนิดแห้ง

6.กลุ่มขนมขบเคี้ยว (Snack) ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ อาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรสปลาเส้นทอด หรืออบกรอบหรือปรุงรส ขนมปังกรอบ หรือแครกเกอร์ หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้
ถั่ว นัต และเมล็ดพืชแห้ง

7.กลุ่มไอศกรีม (Icecream)

8.กลุ่มน้ำมันและไขมัน (Fat and oil) ได้แก่ เนยเทียม มายองเนส น้ำสลัด และแซนด์วิชสเปรด

9.กลุ่มขนมปัง (Bread) ได้แก่ ขนมปังไม่มีไส้

10.กลุ่มอาหารเช้าธัญพืช (Breakfast cereal)

11.กลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ (Bakery products) ได้แก่ คุกกี้และเค้ก

12.กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารว่าง (Small meal) ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารว่าง ชนิดไส้เค็ม/ไส้เนื้อสัตว์ เช่น แซนด์วิช แฮมเบอร์เกอร์ ขนมปังมีไส้ และซาลาเปา กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารว่าง ชนิดไส้หวาน/ไส้ครีม/คัสตาร์ด/แยม/ผลไม้) เช่น แซนด์วิช ขนมปังมีไส้ และซาลาเปา

13.กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเล (Fish and other aquatic products) ได้แก่ เนื้อปลา
ในน้ำแร่และน้ำเกลือ เนื้อปลาในน้ำมัน เนื้อปลาในซอสมะเขือเทศ และซอสพริก ปลาและอาหารทะเลปรุงรส ปลาและอาหารทะเลทอด หรืออบกรอบ ผลิตภัณฑ์จากปลาและอาหารทะเลบด (ซูริมิ)

ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์อาหารที่มี ฉลากสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ไม่ใช่การโฆษณาหรือจัดอันดับอาหาร แม้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการ ได้รับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม แต่หากบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้ได้รับ น้ำตาล ไขมัน โซเดียม เกินความต้องการอยู่ดี ควรเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา หรือ 30 กรัม และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน และออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดี

Related Posts

Send this to a friend