POLITICS

รองผู้ว่า ฯ กทม ฯ เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ SANDBOX

ระดมความร่วมมือ จากภาคีเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข ให้คนกรุงเทพฯมีสุขภาพดี

วันนี้ (15 ธ.ค. 65) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ SANDBOX กรุงเทพมหานคร ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 ดินแดง โดยมีผู้ร่วมประชุม อาทิ ดร.ทพ. วิรัตน์ เอื้อพูสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 และ นายเตชิต ชาวบางพรหม หัวหน้าศูนย์ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อร่วมระดมความคิดเห็น จากตัวแทนภาคสนับสนุนบริการสาธารณสุข เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาระบบสาธารณสุข เสริมความเข้มแข็งให้ระบบปฐมภูมิ ให้คนกรุงเทพฯมีสุขภาพที่ดี และเป็นเมืองที่น่าอยู่

รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า “6 เดือนที่ผ่านมา เราพยายามทำอะไรไปเยอะมาก หลายคนพูดว่าที่เราทำเป็นบทเรียนมาจากโควิด ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ โควิดเป็นเพียงตัวสะท้อนให้เรายังมีความบกพร่องอยู่ และทำให้เราต้องมาทบทวนว่าจุดมุ่งหมายของเราจริงๆ แล้วคือการทำอย่างไรให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีความสุขเวลาป่วย ซึ่งก็คือการที่ไม่ป่วยหนักและได้รับการดูแล ซึ่งช่วงโควิดก็ทำให้คนได้รู้จักกับหน่วยพยาบาลที่ใกล้บ้านมากขึ้น และทำให้เห็นว่ามีหลายแห่งที่ต้องปรับปรุง ซึ่งก็มีภาคประชาชนและเอกชนหลายส่วน ที่ให้ความสนใจและประสงค์บริจาคพื้นที่ให้กทม.ทำให้เห็นว่าพลังของภาคประชาชนมีประโยชน์มาก เรื่องนี้สำคัญและอยู่เหนือผลประโยชน์ใดๆก็ตาม

ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่ากทม.จะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถ ดูแลประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งนโยบายของผู้ว่าฯ ที่พูดถึงเส้นเลือดฝอยมากขึ้น ทำให้หลายครั้งที่เราลืมคิดถึง Segment ต่างๆ และบุคลากรที่ไม่เพียงพอของเรา ซึ่งเราต้องมาถามตัวเองก่อน ว่าไม่พอในเชิงจำนวน หรือไม่พอเพราะไม่จัดระบบ ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า ในศูนย์บริการสาธารณสุขมีบุคลากรไม่พอจริงๆ ประกอบกับการขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน บางทีอาจต้องกลับมาคิดโมเดล ที่จะทำให้การรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพในทุกกลุ่มดีขึ้น และต้องออกแบบให้เรื่องการดูแลสุขภาพ สอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันของประชาชน เนื่องจากประชาชนต้องทำมาหากิน ซึ่งอาจต้องมีโมเดลของคลินิกนอกเวลา การเชื่อมโยงกับเครือข่ายภาคเอกชน และส่วนหน้าของโรงพยาบาลกทม.ทั้ง 12 แห่ง ต้องมีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งพบว่าทุกเครือข่ายพร้อมที่จะให้ข้อมูล แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือ”

“สำหรับรูปแบบของ Sandbox ทั้ง 2 Model ต้องมาดูที่ความยั่งยืน และการขยายงานเพื่อบริการประชาชนได้มากขึ้นและแก้ข้อจำกัดที่มี โดยเฉพาะข้อจำกัดในเชิงพื้นที่ ซึ่งในกรุงเทพฯเหนือจะเห็นได้ชัดว่ามีข้อจำกัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีวิธีในการจัดการ และมีรูปแบบที่เฉพาะ อาจจะไม่เหมือนกับของราชพิพัฒน์โมเดล หรือดุสิตโมเดล เนื่องจากแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม Concept ของ Sandbox วันนี้หากประเมินในอีก 2-3 เดือนแล้วใช้ไม่ได้ และหากไม่แก้ไขคงต้องเลิก เพื่อไม่ให้เปลืองทรัพยากรที่มีอยู่ อย่างไรก็ตามหากเครือข่ายในวันนี้ เครือข่ายมีความสามารถด้านใด กทม.ขอรับไว้ทั้งหมด”

ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายด้านสุขภาพดี เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพและสาธารณสุขได้ง่ายและทั่วถึง ระดับเส้นเลือดฝอย มีความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านการส่งเสริมและป้องกัน ดูแลและฟื้นฟู ตั้งแต่เด็กเล็ก วัยทำงาน คนพิการ ผู้สูงอายุ จนถึงระยะท้ายของชีวิต ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเป็นจำนวนมากและมีความหลากหลาย และการจัดสุขภาพมีผู้เกี่ยวข้อง หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนระบบบริการที่มีอยู่ อาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน กรุงเทพมหานครจึงได้ทดลองระบบให้บริการใหม่ ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยี ให้ไร้รอยต่อ ตั้งแต่หน่วยบริการปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ ในรูปแบบ Sandbox Model ซึ่งเป็นความร่วมมือโดยบูรณาการการทำงานของโรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขตพื้นที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ โดยเริ่มดำเนินการมาแล้ว 2 แห่ง คือ ดุสิต Model และ ราชพิพัฒน์ Model ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี กรุงเทพมหานครจึงได้มีนโยบาย ให้ขยายผลSand Box Model ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่”

Related Posts

Send this to a friend