POLITICS

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้องรวด 6 จำเลย ปมฮั้วประมูลโรงพัก

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้องรวด 6 จำเลย ปมฮั้วประมูลโรงพักร้าง ชี้ ‘สุเทพ-ปทีป’ ปฏิบัติตามระเบียบ ไม่เสียหายต่อราชการ ‘สัจจะ-สุริยา’ อดีต กรรมการจัดจ้าง ตร. ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์ ‘เอกชนผู้รับจ้าง’ จึงพ้นผิดด้วย

วันนี้ (20 ก.ย. 65) เวลา 09:30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.23/2564 ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โจทก์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวก รวม 6 คน จำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (1) และมาตรา 10 กับระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อ ครม. พ.ศ. 2548 ข้อ 13 ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การเสนอเรื่องให้ ครม. พิจารณา และอำนาจของ ครม. ในการอนุมัติ ประกอบบันทึกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ลงวันที่ 9 มกราคม 2552 ที่อ้างข้อเท็จจริงตามบันทึก ตร. ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2551 เพื่อเสนอเรื่องต่อ ครม. ขออนุมัติให้นายกรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณา

ตร. ได้กำหนดประเด็นที่ประสงค์จะให้ ครม. อนุมัติให้ตร. ดำเนินโครงการสถานีตำรวจเพื่อประชาชน (ทดแทน) โดยเป็นโครงการผูกพันงบประมาณ 3 ปี ตั้งงบประมาณปี 2552 ถึง 2554 ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ฎ. และระเบียบดังกล่าว นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ตร. ประสงค์ขอเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้น

ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และข้อ 29 กำหนดให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้ให้ความเห็นชอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้ มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ว่า ครม. อนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ตามที่ ตร. เสนอ โดยให้ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ยกเว้นการปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติ ครม. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันงบประมาณในข้อ 1.2 และข้อ 1.6 ตามหนังสือสำนักงบประมาณที่ นร 0704/097 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551

ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เห็นว่าเมื่อ ตร. ได้ก่อสร้างอาคารใหม่ทดแทนเรียบร้อยแล้ว ควรดำเนินการรื้อถอนอาคารเดิมเพื่อความปลอดภัยในการใช้อาคาร และเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ภาครัฐในการจัดสรรงบประมาณซ่อมแซมและดูแลรักษาไปพิจารณาดำเนินการด้วย เป็นการอนุมัติหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) เฉพาะเรื่องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนภาครัฐจากเดิมโดยวิธีแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามที่บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เสนอ เป็นวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่ ตร. เสนอเท่านั้น

“ไม่รวมรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง หรือวิธีการจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการจะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลโดยทั่วไป ซึ่งการบริหารราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงไม่เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง”

ทางไต่สวนข้อเท็จจริงได้ความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างได้รับการพิจารณาเหตุผลความจำเป็นโดยมีมูลเหตุข้อขัดข้องในทางกฎหมาย แล้วเสนอขึ้นมาตามลำดับบังคับบัญชาจนถึงจำเลยที่ 2 โดยผู้บังคับบัญชาในแต่ละลำดับชั้น รวมทั้งพลตำรวจโทธีรยุทธ กิติวัฒน์ เจ้าหน้าที่พัสดุ ตร. และพลตำรวจโทพงศพัศ พงษ์เจริญ ต่างพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยให้ดำเนินการตามที่สำนักงานส่งกำลังบำรุงเสนอ ซึ่งพลตำรวจโทพงศพัศเคยเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางดำเนินการจัดจ้างที่เคยพิจารณาข้อดีข้อเสียของแนวทางวิธีการจัดจ้างที่เสนอมาใหม่ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่อาจเป็นไปได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจครอบงำสั่งการให้มีการเสนอขอเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้าง
หรือมีพฤติการณ์ที่มิชอบแต่อย่างใด

แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการใช้ดุลพินิจให้ความเห็นชอบการจัดจ้างตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 8 ข้อ 27 และ ข้อ 29 แล้ว ทั้งการกำหนดรูปแบบการจัดจ้าง แนวทางการจัดจ้าง และวิธีการจัดจ้าง มิใช่เรื่องที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา แม้จำเลยที่ 2 ขออนุมัติต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่เสนอให้นายกรัฐมนตรีนำเสนอเรื่องแก่คณะรัฐมนตรีพิจารณาก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 เคยอนุมัติวิธีการจัดจ้างตามที่พลตำรวจเอกพัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเสนอมาก่อนแล้ว

“การเสนอดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสายงานการบังคับบัญชาเท่านั้น ซึ่งไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะอนุมัติตามที่จำเลยที่ 2 เส้นหรือไม่ก็ไม่มีผลต่อความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่การกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบบราชการ และระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง”

จำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการประกวดราคา และจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการและเลขานุการฯ โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง วงเงิน 6,298,000,000 บาท ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง ประกาศประกวดราคาจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553 และเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 15/2553 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2553

เมื่อจำเลยที่ 5 จัดทำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้าง (Bill of Quantities หรือ BOQ) ราคารวม 5,848,000,000 บาท ตามที่ได้ยืนราคาครั้งสุดท้ายส่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีหน้าที่ต้องนำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างของจำเลยที่ 5 เสนอให้คณะกรรมการประกวดราคาพิจารณา แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่นำบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างดังกล่าวเสนอคณะกรรมการประกวดราคา โดยรายการในส่วนของงานฐานรากที่เสนอราคาเสาเข็มตอกรูปสี่เหลี่ยมตัน ขนาด 0.30 x 0.30 x 21 เมตร มีราคาต่ำกว่าราคากลางของ ตร. และราคาของกองดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้

เมื่อพิจารณาเอกสารการประกวดราคา ข้อ 6.1 และข้อ 6.5 วรรคสอง แล้วเห็นได้ว่าราคาต่ำจนคาดหมายได้ว่าไม่อาจดำเนินงานตามสัญญาได้ ต้องพิจารณาจากราคารวมเป็นสำคัญ การพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคา จึงต้องพิจารณาในภาพรวมตามความเหมาะสมและอยู่ภายในวงเงินที่จำเลยที่ 5 เสนอราคา และภายในวงเงินงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากราชการ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ราคารวมที่จำเลยที่ 5 เสนอต่ำกว่าราคากลาง 540,000,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 8.45 ไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันหรือลดโอกาสการสมยอมกันเสนอราคาตามมติคณะรัฐมนตรีที่จะต้องจัดทำบันทึกคำชี้แจงส่งให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถือว่าไม่ใช่ราคาต่ำเกินสมควรจนคาดหมายไม่ได้ว่าอาจดำเนินงานตามสัญญาได้ และบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาในการก่อสร้างระบุราคารวมไม่เกินราคารวมที่จำเลยที่ 5 เสนอยืนราคาครั้งสุดท้าย

“พฤติการณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ทั้งทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำการดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 เมื่อทางไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้หรือควรรู้ว่าการเสนอราคาครั้งนี้มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่จำเลยที่ 5 เข้าทำการเสนอราคา จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ด้วยจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่มีคงามผิดตามฟ้อง”

เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้สนับสนุน การกระทำความผิดจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 5 และที่ 6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

Related Posts

Send this to a friend