เตือน หมอนรองกระดูกทับเส้น รักษาผิดวิธี อาจทำให้อาการรุนแรง เสี่ยงอัมพาต-ทุพพลภาพ

วันนี้ (15 พ.ย. 66) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ เผยข้อมูล สถาบันประสาทวิทยา เตือนประชาชน ที่มีอาการจากโรคหมอนรองกระดูก ทับเส้นประสาท โดยจะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา ปวดคอร้าวไปแขน มีอาการชา หรืออ่อนแรงของแขนขา ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อยของคนยุคปัจจุบัน แม้ในรายที่ยังเป็นไม่มาก อาการก็อาจจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แต่หากในรายที่รุนแรง โดยเฉพาะหากชิ้นส่วน ของหมอนรองกระดูกสันหลัง บางตำแหน่ง เคลื่อนหลุด ออกมากดทับไขสันหลัง อาจรุนแรงถึงขั้นอัมพาต
รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว และอยู่ระหว่างการรักษา ควรใช้วิจารณญาณ พิจารณาตามหลักเหตุผล ก่อนเลือกใช้บริการรักษาแขนงอื่นๆ ทั้งที่เป็นการรักษาทางเลือกทั่วๆ ไป และการโฆษณาชวนเชื่อ เพราะหากเลือกรับบริการที่ไม่เป็นไป ตามมาตรฐานทางการแพทย์ นอกจากโรคจะไม่หายแล้ว ยังอาจจะทำให้การกดทับของเส้นประสาท หรือ การกดทับของไขสันหลังเป็นมากขึ้น อันอาจจะทำให้ผู้ป่วย มีอาการแย่ลงจน ถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือทุพพลภาพได้
แพทย์หญิงอัมพร เปิดเผยว่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือเกิดจากการฉีกขาด ของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลัง จากอุบัติเหตุหรือการเคลื่อนไหวผิดธรรมชาติ เช่น การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง การก้มหยิบของหนัก การออกกำลังกายแบบหักโหมมากเกินไป หรือ เกิดในช่วงวัยสูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูก อาการมักเกิดขึ้นกับกระดูกสันหลังบริเวณคอและเอว เนื่องจากเป็นกระดูกสันหลัง ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวมากที่สุด มีผลทำให้ชิ้นส่วน ของหมอนรองกระดูกสันหลังบางตำแหน่ง เคลื่อนหลุด ออกมากดทับเส้นประสาท หรือแม้แต่ไขสันหลัง ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง หรือรุนแรงถึงขั้นอัมพาตได้
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า อาการผู้ป่วยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาการของการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคอร้าวไปตามแขน หรือ มือ ตรงตำแหน่งเส้นประสาทที่ถูกกด ในรายที่มีอาการรุนแรง จะส่งผลให้แขนหรือมืออ่อนแรงได้ 2.กลุ่มอาการของการกดไขสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาอ่อนแรง เดินลำบาก ขาตึง ชาตามลำตัวและลามไปที่ขาทั้งสองข้าง ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ อ่อนแรงของมือร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง ส่วนอาการปวดคอหรือเอว อาจจะมีร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
การตรวจวินิจฉัยและรักษา จะเริ่มจากการซักประวัติ และตรวจร่างกายทางระบบประสาทอย่างละเอียด และส่งตรวจด้วยการเอกซเรย์ ซึ่งสามารถให้การวินิจฉัยโรคได้เกือบทุกราย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจพิเศษ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ยกเว้นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และจำเป็นต้องผ่าตัดรักษา กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยา ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด โดยการประเมินร่วมกัน ระหว่างแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายภาพบำบัด
เพราะนอกจากการทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูร่างกายแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องรับคำแนะนำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อลดความเจ็บปวด ลดการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังอีกด้วย ในปัจจุบันวิทยาการในการรักษาพัฒนาไปมาก มีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง การผ่าตัดแบบเปิดแผลเล็ก ทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวกลับไปดำเนินชีวิตประจำวัน หรือทำงานได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมียังมีการพัฒนา วัสดุที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุเลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูก ช่วยให้ขยับ ก้ม เงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ
ปัจจุบันอาจจะมีวิธีการรักษาทางเลือกอื่นๆ ทั้งที่เป็นการรักษาทางเลือกทั่วๆ ไป และการโฆษณาชวนเชื่อ ผู้ป่วยที่มีอาการและยังไม่ได้รับการวินิจฉัย หรือผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้ว และอยู่ระหว่างการรักษา ควรใช้วิจารณญาณ และสติพิจารณาตามหลักเหตุผล ก่อนเลือกใช้บริการรักษาแขนงอื่นๆ เพราะหากเลือกรับบริการที่ไม่เป็นไป ตามมาตรฐานทางการแพทย์ นอกจากโรคจะไม่หายแล้ว ยังอาจจะทำให้การกดทับของเส้นประสาท หรือการกดทับของไขสันหลังเป็นมากขึ้น อันอาจจะทำให้ผู้ป่วย มีอาการแย่ลงจน ถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือทุพพลภาพได้