HEALTH

เผยผลวิจัย คนไทยนั่งนานกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน เสี่ยงโรค NCD แนะหมั่นขยับ

วันนี้ (27 มี.ค 66) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) เผยผลงานวิจัย พบคนไทยโดยเฉพาะ 3 ใน 4 รายมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ แต่นั่งนานกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเนือยนิ่ง ที่คิดเป็นร้อยละ 76 โดยเฉพาะช่วงอายุ 18-80 ปี จากการสำรวจใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงแนะนำให้เพิ่มกิจกรรมทางกาย ด้วยการขยับร่างกาย หรือมีกิจกรรมนันทนาการ ในยามว่างแทน เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า “กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศไทย (IHPP) ศึกษาวิจัยสถานการณ์การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ และพฤติกรรมเนือยนิ่งของคนไทย โดยวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพคนไทยในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในผู้ที่มีอายุ 18-80 ปี จำนวน 78,717 คน ครอบคลุม 77 จังหวัด พบว่าร้อยละ 76 มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยการนั่งตั้งแต่ 7 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน และร้อยละ 72 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกคือ 150 นาทีต่อสัปดาห์”

“สาเหตุหนึ่งที่คนไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งสูง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง รูปแบบการทำงานที่ใช้แรงกายลดลง เช่น การเปลี่ยนจากการทำงานภาคเกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรม เป็นรูปแบบการนั่งในห้องทำงานแทน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยง ต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากอัตราการเผาผลาญพลังงานต่ำ”

“นอกจากนี้ผลการศึกษายังพบว่า คนไทยมีการทดแทน การขยับร่างกายที่น้อยในการทำงาน ด้วยการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมนันทนาการในยามว่างแทน โดยเฉพาะคนเมือง พบว่ามีสัดส่วนกิจกรรมทางกายในนันทนาการ และการเดินทางมากกว่าคนชนบท เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพ ในการเข้าถึงสถานที่นันทนาการ โครงสร้างพื้นฐานในการเดิน อาทิ ทางเดินเท้า การผังเมือง รวมถึงระบบขนส่งสาธารณะ ในเมืองดีกว่าชนบท ซึ่งการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ จะลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง เป็นต้น”

ทางด้าน ดร.นายแพทย์ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กล่าวว่า “ผลการศึกษาที่น่าสนใจ ผู้หญิงมีอัตราส่วนการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พบปรากฎการณ์นี้ จากการสำรวจระดับกิจกรรมทางกาย ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี แสดงถึงความตื่นตัวต่อการขยับร่างกาย ในชีวิตประจำวันรวมถึงการออกกำลังกายในเพศหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้การศึกษาครั้งนี้ สำนักงานสถิติได้เก็บข้อมูลทุกจังหวัดในประเทศไทยในปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มผ่อนปรนมาตรการ ควบคุมโควิด 19 ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระดับ การมีกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง ที่ต่างจากช่วงปกติก่อนมีการระบาดของโควิด 19

Related Posts

Send this to a friend