CRIME

เอกชนร้อง DSI เอาผิดการเคหะฯ ร่วมทุนสร้างบ้านเอื้ออาทร สมุทรปราการ กว่า 2,448 ล้านบาท

นายประสิทธิ์ เด่นนภาลัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียงประกายก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์ต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการบริหาร กคช. และการเคหะแห่งชาติ

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัท และ กคช. ได้ทําสัญญาร่วมทุนดําเนินโครงการบ้านเอื้ออาทร “เทพารักษ์ 4 จ.สมุทรปราการ” ซึ่งตามสัญญากําหนดให้บริษัทจัดหาที่ดิน เงินทุนและดําเนินการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย จำนวน 125 อาคาร รวม 5,830 หน่วย บนเนื้อที่รวม 125 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 2,448 ล้านบาท แต่ระหว่างการดำเนินการ บริษัทได้รับแรงกดดันจากการแสวงหาประโยชน์ของบอร์ด กคช. และกลุ่มบุคคลภายในการเคหะฯ ในหลายรูปแบบ เช่น บีบบังคับให้บริษัทซื้อที่ดินที่ไม่มีทางออก ซึ่งที่ดินอยู่ติดกับโครงการ โดยมีคณะกรรมการติดต่อประสานกันไว้แล้ว หรือการบีบบังคับให้แก้ผัง แก้แบบแปลน หรือนำเอากลุ่มบุคคลรับเหมาจากภายนอกเข้ามาร่วมแสวงหาประโยชน์จากโครงการ โดยเฉพาะการนำเอา หจก.ศรีเอี่ยมการโยธา เข้ามาเป็นคู่สัญญารับเงินจากโครงการแทนบริษัท ทำให้บริษัทจำใจต้องยอมรับเงื่อนไขนอกสัญญาดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะถูกกลั่นแกล้ง

นายประสิทธิ์ เพิ่มเติมว่า คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติได้ใช้อํานาจโดยมิชอบกลั่นแกล้งบริษัท โดยอ้างสิทธิตามสัญญาและบีบบังคับให้บริษัทต้องปรับลดหน่วยการก่อสร้างโครงการลง เหลือเพียง 1 ใน 3 ของสัญญาเดิม (125 อาคาร) ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างต่อหน่วย ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และไม่สามารถก่อสร้างโครงการได้ตามสัญญา

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ บริษัทจึงได้ยื่นฟ้อง หจก.ศรีเอี่ยมการโยธา และการเคหะแห่งชาติ เป็นจําเลยในคดีแพ่ง พร้อมกับนําเสนอเอกสารหลักฐานเพื่อให้ศาลพิจารณาว่า มีการทุจริตในระหว่างดำเนินโครงการ โดยการเคหะแห่งชาติและกลุ่มุบคคลที่เกี่ยวข้องจริง ซึ่งศาลแพ่งได้มีคําพิพากษาถึงที่สุด ให้การเคหะแห่งชาติ(กคช.) แพ้คดีตามคำพิพากษาคดีแดงที่ 5988/2552 โดยให้เหตุผลว่า “การเคหะแห่งชาติได้บีบบังคับให้บริษัท นําหจก.ศรีเอี่ยมการโยธาเข้ามาเป็นผู้รับเงินจากโครงการแทนบริษัทจริง อันเป็นการกระทำตามที่บอร์ด กคช.บางคนต้องการแสวงหาประโยชน์จากโครงการ จนเกิดเป็นข้อพิพาทระหว่างบริษัทและการเคหะแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง จนโครงการไม่สามารถดําเนินการต่อไปได้นับแต่ปี พ.ศ. 2552 เป็นต้นมา” ล่าสุด คดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมฟ้องเรียกคืนที่ดิน 125 ไร่ จาก กคช. ตามสัญญาร่วมทุน ดังนั้น บริษัทจึงยังคงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวอยู่ เนื่องจากยังมีคดีความฟ้องร้องระหว่างกันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาลปกครองสูงสุด แต่ระหว่างปี 2564 บริษัทพบว่า การเคหะฯ ได้กระทําการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยขอเข้าใช้พื้นที่โครงการบางส่วน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าการเคหะฯ เป็นผู้ครอบครองพื้นที่โครงการ และยังมีแผนปรับปรุงอาคารบางส่วนให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปภายในสิ้นเดือนนี้

บริษัทจึงต้องขอความเป็นธรรมจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ดำเนินคดีต่อการเคหะแห่งชาติ คณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ และกลุ่มบุคคลอื่นใดที่สมคบกันในการกระทําความผิดให้ถึงที่สุด

Related Posts

Send this to a friend