FEATURE

เลือกกิจกรรมวันหยุด เหมาะกับช่วงวัยเด็ก ช่วยสานสัมพันธ์ครอบครัวยุคใหม่

ช่วยกระชับความผูกพันครอบครัวให้แนบแน่นได้ ด้วยการที่พ่อแม่เลือกกิจกรรมวันหยุด ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ลูกหลาน โดยอาศัยช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือแม้แต่วันหยุดนักขัตฤกษ์ ด้วยการแท็กทีมชวนกันออกไปเที่ยวนอกบ้าน เพราะเด็กยุคใหม่มักใช้เวลาว่าง ไปกับการเล่นโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นการเลือกสถานที่และกิจกรรม ให้เหมาะกับช่วงวัยเด็ก ไม่เพียงทำให้ลูกหลานรู้สึกสนุกสนาน แต่ทว่ายังช่วยสร้างการเรียนรู้ ให้น้องๆหนูๆได้อีกด้วย โดยเฉพาะการรู้จักเข้าสังคม และความรู้สึกอ่อนโยนในการเป็นผู้ให้ เช่น กิจกรรมให้อาหารสัตว์ทั้งในสวนสัตว์ หรือแต่สวนสนุกบางแห่ง ที่มีบริการป้อนอาหารยีราฟตัวโตๆ เป็นต้น เพื่อสานสายใยครอบครัว และเบรกลูกหลานออกจากโซเชียลและมือถือ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นั้น

The Reporters ได้สอบไปยัง “ครูเฟิร์น-กัญญณัฎฐ์ สิริธารเบญจกุล” ประธานชมรมมูลนิธิปั้นเด็กดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกกิจกรรม ช่วงวัดหยุดสุดสัปดาห์ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้กับเด็กยุคใหม่ในแต่ละช่วงวัย เพื่อป้องกันการใช้เวลาว่างอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากไลฟ์สไตล์ของครอบครัวยุคใหม่นั้น ผู้ปกครองหลายบ้าน มักจะให้ลูกหลานอยู่กับแท็บเล็ตและโชเชียล มากกว่าการคุยนั่งเล่นด้วยกัน ดังนั้นการหาเวลาว่าง โดยการใช้เวลาร่วมกับครอบครัว เป็นสิ่งที่ทำให้สมาชิกรักใคร่กลมเกลียว ขณะเดียวกันก็ทำให้เด็กๆ เรียนรู้อยู่กับผู้อื่นในสังคมได้ ด้วยกิจกรรมวันหยุดที่เหมาะกับช่วงอายุ โดยมีผู้ปกครองคอยซัพพอร์ต พาไปทำกิจกรรมนอกบ้าน

กัญญณัฎฐ์ ให้ข้อมูลว่า “กิจกรรมในช่วงวัดหยุดสุดสัปดาห์ ถ้าจะให้ดีนั้นควรเลือก ให้เหมาะกับช่วงวัยของเด็กแต่ละคน เช่น “เด็กอายุ 5-12 ปี” นั้น ผู้ปกครองควรพาเด็ก ไปทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกับครอบครัว เช่น “ไปสวนสนุก” เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันแม้แต่เด็กเล็กแบเบาะ ผู้ปกครองบางท่านก็ให้ลูกนอนดูโทรศัพท์มือถือแล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กตื่นลืมตา และอยู่กับอุปกรณ์สมาร์ทโฟนเหล่านี้ การพาลูกหลานออกไปเที่ยวสวนสนุก จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทั้งสมอง สายตา และร่างกายให้กับเด็กวัยนี้ได้ อีกทั้งการไปสวนสนุกก็ทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมที่มีประโยชน์ เช่น การที่เด็กวัย 5 ขวบได้ “เล่นม้าหมุน” โดยมีผู้ปกครองอยู่ด้วย ก็ทำให้พ่อแม่ใกล้ชิดลูกหลานมากขึ้น และได้พูดคุยกัน มากกว่าต่างคนต่างนอนดูมือถือคนละมุม ส่วนลูกนอนดูแท็บเล็ต หรือแม้แต่กิจกรรมระบายสี ที่จัดอยู่ในมุมต่างๆของสวนสนุก ก็เป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ ให้กับลูกหลานด้วยกิจกรรมศิลปะ หรือแม้แต่สวนสนุกบางแห่ง จะมี “โซนห้องหิมะ” ที่ทำให้เด็กๆได้ฝึกพัฒนาการสมอง จากการได้เล่นบนหิมะ มีคอนเนคชันกับคนมากขึ้น ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือแม้แต่การปลูกฝัง เรื่องการรักสัตว์จากการได้สัมผัส และความมีเมตตาอ่อนโยน เช่น “กิจกรรมให้อาหารสัตว์” ที่จัดอยู่ในสวนสนุก และในสวนสัตว์เป็นต้น”

เสริมประสบการณ์ท่องเที่ยวสนุก-สร้างความประทับใจให้เยาวชนตัวน้อย เจ้าของกิจกรรมเน้นความปลอดภัยเด็กเป็นสำคัญ

“บ้านไหนที่มีลูกโตขึ้นมาเล็กน้อย หรือประมาณ “7-8 ปี” ก็สามารถพาไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เพื่อปลูกฝังเรื่องของการรักธรรมชาติ เช่น การ “ทำสวนปลูกข้าวในแปลงเกษตรอินทรีย์” เพื่อให้เด็กๆได้ออกไปสูดบรรยากาศท้องทุ่ง นอกจากอยู่ในกทม.แล้ว แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องเชย หรือตกกระแสกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาเด็กแต่อย่างใด แต่สิ่งสำคัญนั้นในการพาลูกหลาน ออกไปทำกิจกรรมดังกล่าว ส่วนตัวครูเฟิร์นมองว่า ผู้บริหารโครงการที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ ขึ้นมาเพื่อเด็กๆนั้น อาจจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการพื้นที่เรียนรู้การเกษตร เพื่อให้มีความปลอดภัย ทั้งต่อเรื่องของเชื้อโรคในดินหรือพืช ที่อาจส่งผลกระทบต่อเด็กๆ หรือต้องไม่มีอุปกรณ์แหลมคมในการเกษตร รวมถึงไม่มีสารเคมีต่างๆ เพื่อให้เด็กๆได้ปลูกข้าว ปลูกผักอย่างสนุกสนาน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสารเคมีตกค้าง หรือปนเปื้อนอยู่ในกิจกรรมที่ทำ เนื่องจากการบริหารจัดการ สวนเกษตรเพื่อการเรียนรู้ให้กับเด็ก ทั้งในญี่ปุ่น และประเทศจีน สามารถทำให้มีความปลอดภัยต่อเด็กมากขึ้นในปัจจุบัน”

“หรือแต่แม้บางกิจกรรม เช่น “การปลูกป่าโกงกาง” ที่บางครั้งการให้ความรู้กับน้องๆหนูๆ ผ่านการเวิร์คชอบเล็กๆน้อยๆ ก่อนที่จะปลูกต้นโกงกางนั้น เช่น การเอาถุงพลาสติกสีดำออกก่อนที่จะปลูก เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดขยะถุงพลาสติก ขึ้นในพื้นที่ปลูกป่าชายเลน และสุดท้ายจะทำให้ต้นโกงกางตาย เพราะยังไม่ได้ถูกนำออกจากถุงดำ เป็นต้น ซึ่งถ้าผู้จัดโครงการหรือกิจกรรม สามารถให้ความรู้เด็ก ก่อนที่จะลงมือทำกิจกรรมได้ ก็จะทำให้ “กิจกรรมปลูกป่าชายเลน” เป็นสิ่งที่เหมาะกับเด็กวัยนี้มากๆ อีกหนึ่งกิจกรรมค่ะ เพราะเด็กอายุ 7-8 ปีจะมีความสุขมากๆ หากได้เล่นขี้เลน และอยู่กับสายลมแสงแดดอ่อนๆค่ะ”

สื่อสารด้วยเทคนิคจูงใจ กระตุ้นลูกหลานอยากออกไปนอกสถานที่ ช่วยหยุดพฤติกรรมจ้องหน้าจอได้

“สำหรับเด็กช่วงวัย “12-18 ปี” นั้น ถือว่าเป็นช่วงวัย ที่พ่อแม่สามารถควบคุมลูกได้ค่อนข้างยาก เพราะเด็กมักจะติดเกมและติดโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการที่ผู้ปกครอง ต้องสื่อสารกับเด็ก เพื่อสร้างความน่าสนใจให้ลูก อยากที่จะออกไปทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ พูดง่ายว่าต้องมีวิธีการสื่อสารที่น่าสนใจ เพราะเด็กวัยนี้หากพ่อแม่ชวนไปทำบุญที่วัด เพื่อสะสมบุญหรือช่วยให้มีบุญมากๆนั้น เด็กๆจะไม่สนใจและไม่อยากไป อีกทั้งเมื่อเด็กไม่ยอมไปด้วยเหตุผลดังกล่าว ประกอบผู้ปกครองหลายคน ก็จะพูดกับลูกในลักษณะที่ว่า “ทำไมถึงไม่อยากไป ไม่อยากได้บุญเหรอ” หรือ “ทำไมเด็กสมัยนี้เป็นแบบนี้กันนะ” ซึ่งเด็กจะมองว่าถูกแม่แซะเรื่องไม่ยอมเข้าวัดทำบุญ เด็กก็ยิ่งไม่อยากไปวัด เพราะกลัวถูกผู้ปกครองบ่นขณะเดินทาง”

“แต่ถ้าพ่อแม่เปลี่ยนวิธีสื่อสารใหม่ ในลักษณะของการขอความช่วยเหลือ บวกกับการพูดขอบคุณเมื่อเด็กๆทำความดี หลังจากไปทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เช่น “ไปช่วยแม่ถือของหน่อยลูก อาทิตย์นี้คุณพ่อไม่ว่าง” หรือ “ไปช่วยแม่เลือกซื้อสังฆทาน ไปทำบุญที่วัดหน่อย เพราะลูกเลือกของทำบุญเก่งและน่าสนใจดี และแม่ก็จะไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรดี” ซึ่งวิธีจากการทดลองกับลูกๆของตัวเอง ค่อนข้างได้ผลมากค่ะ เพราะการที่เด็กๆได้ไปช่วยเลือกซื้อของทำบุญ จะทำให้เด็กๆภูมิใจ และทำให้การเข้าวัดทำบุญเป็นเรื่องง่ายสำหรับเด็กวัยนี้ และค่อยๆซึมซับเรื่องการทำบุญไปเรื่อยๆ เพื่อเลี่ยงการอยู่กับหน้าจอมือถือลงได้ค่ะ”

“เมื่อพ่อแม่มีวิธีการสื่อสารที่ดีกับลูกแล้ว ในช่วงวันหยุดต่างๆก็สามารถชวนเด็กวัยนี้ “ไปเที่ยวทะเล” หรือ “ปีนเขา” ได้เช่นกัน แต่อาจจะไม่ใช่ไปกันสามคนพ่อแม่ลูก เช่น หากไปทะเลกับครอบครัว เนื่องจากเด็กรู้สึกเบื่อและไม่ตื่นเต้น แต่ถ้ามีเพื่อนลูกไปด้วย 1-2 คน หรือแม้แต่ผู้ปกครองของลูกเพื่อนไปด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับยานพาหนะที่สามารถไปด้วยกันได้ ซึ่งเด็กๆจะรู้สึกสนุกสนานมาก ไม่ว่าจะเป็นเที่ยวทะเลหรือปีนเขา เพราะเขามีเพื่อน ที่พร้อมทำกิจกรรมที่ชอบเหมือนๆกัน ซึ่งตรงนี้จะช่วยสร้างความผูกพัน ในครอบครัวได้ทางหนึ่ง เพราะพ่อแม่ก็จะรู้สึกดี ที่ได้พาลูกออกมาทำกิจกรรมที่ชอบ และลูกก็รู้สึกสนุกกับสิ่งที่พ่อแม่ซัพพอร์ตให้เขาในวันหยุดต่างๆ”

กิจกรรมต้องห้ามเพื่อความปลอดภัย ขณะพาลูกเที่ยว

“สำหรับกิจกรรมต้องห้ามเมื่อพาลูกเที่ยวนั้น นอกจากไปดื่มแล้ว ก็คือการไปม็อบค่ะ เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับเด็กวัยนี้ได้ ทั้งเรื่องของสุขภาพเวลา ที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก อาจทำให้โรคประจำตัวของเด็กกำเริบได้ ส่วนเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์นั้น ส่วนตัวที่ครูเฟิร์นมีลูกๆอยู่ในช่วงวัยรุ่นนั้น ต้องบอกว่าเวลาที่เราไปเที่ยวกลางคืนกับลูกๆ ครอบครัวเราจะเปิดโอกาสให้ลูกได้ดื่ม พูดง่ายๆว่าครอบเราไม่ห้ามเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเรามองว่าลูกดื่มอยู่ในสายตาเรา หรืออยู่ในระดับที่พอดี ไม่ใช่การดื่มแบบขาดสติที่เวลาเมาแล้วขับรถยนต์ ซึ่งอย่างนั้นไม่ใช่ค่ะ เพราะอย่าลืมว่าเด็กวัยรุ่นยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ดังนั้นถ้าเราปล่อยให้เขาดื่มในสายตาของเรา แน่นอนว่าเวลาที่เราไม่ได้อยู่กับเขา ลูกก็ติดนิสัยการดื่มที่อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ หรือดื่มแค่พอสนุก เหมือนกับเวลาที่ดื่มอยู่กับพ่อแม่ ไม่ใช่ว่าจะดื่มจนขาดสติแล้วไปขับขี่ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเอง และผู้อื่นอย่างแน่นอนค่ะ”

“หรือแม้แต่การที่ลูกเล่นเกมก็ตาม ครูเฟิร์นก็จะไม่ห้ามลูกเช่นกัน แต่เราจะสอนให้ลูกรู้จักเวลาว่า เวลาไหนลูกต้องทำอะไร ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เด็กเล่นเกมวันละ 10-12 ชั่วโมง หรือ เด็กบางคนที่พ่อแม่ไม่สนใจ ทำให้เด็กเล่นเกมตลอด 24 ชั่วโมง จนกระทั่งกระทบต่อสุขภาพเขา เนื่องจากลูกคนโตของครูเฟิร์น เรียนหลักสูตรเกมอีสปอร์ต ดังนั้นก็จะตั้งกฎเอาไว้ว่า ถ้าถึงเวลากินข้าวลูกต้องลุกมากิน และถึงเวลาทำงานบ้านซักเสื้อผ้าล้างจานลูกก็ต้องลุกมาทำเอง หรือถึงเวลาที่ต้องออกไปข้างนอก เพื่อช่วยแม่ถือของยกของ ซึ่งลูกก็ทำตามกฎกิติกาที่ครูเฟิร์นตั้งเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็เป็นการสอนให้เด็กรู้หน้าที่ และรู้เวลาว่าต้องทำอะไร ซึ่งวิธีนี้ก็ช่วยทำให้เด็กออกจากวงจร หน้าจอมือถือได้ไม่ยากค่ะ จากการตั้งกฎกติกา หรือระยะเวลาในการใช้ที่เหมาะสม”

“นอกจากนี้สิ่งที่อันตรายไม่แพ้กันคือ การพาลูกเที่ยวแต่ผู้ปกครอง เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือจับกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนๆโดยไม่สนใจเด็ก โดยส่วนตัวมีประสบการณ์ เมื่อครั้งพาลูกไปเที่ยวทะเล และครูเฟิร์นนั่งคุยกับเพื่อนเพลิน กระทั่งหันมาเห็นลูกสาวคนเล็ก ที่นั่งห่วงยางเป็ดลม ตกลงไปในน้ำขาชี้ฟ้า หรือแม้แต่ผู้ปกครองยุคใหม่ที่ปล่อยให้ลูกเล่นน้ำริมทะเล ส่วนพ่อแม่นั่งไถมือถือ จากประสบการณ์ส่วนตัวก็มองว่าค่อนข้างอันตราย สำหรับครอบครัวที่มีลูกเล็กค่ะ ก็จำเป็นต้องคอยระวังไม่เด็กคลาดสายตา โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวริมน้ำต่างๆ รวมถึงสวนสนุกบ้านลม ที่มีเด็กๆเล่นกันข้างเยอะ ก็อาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น เด็กเดินเกี่ยวกันล้ม หรือ ถูกบ้านลมล้มทับ ตรงนี้ผู้ปกครองมือใหม่ ก็ควรเฝ้าระวังและดูเด็กไม่ให้คลาดสายตา หากต้องพาเด็กไปทำกิจกรรมนอกบ้าน”

นอกจากการสานความผูกพันครอบครัว ด้วยกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ภายใต้ทริคเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับการเลือกแหล่งท่องเที่ยว ที่เหมาะกับช่วงวัยลูกหลานแล้ว การให้ความใส่ใจเกี่ยวกับความปลอดภัย ระหว่างเรียนรู้นอกห้องเรียน ก็เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองยุคโซเชียล ไม่ควรมองข้าม…จริงไหมคะ

Related Posts

Send this to a friend