FEATURE

สะพานข้ามโขง “บึงกาฬ-บอลิคำไซ” ไปชมกลิ่น “กุหลาบปากซัน”

 

“แดนดินถิ่นไกลเหลือตา อยู่สุดนภา ยังมีดอกฟ้าแสนงาม หากไผได้เห็นจะมัวหลง เฝ้าฝันพะวงหลงติดตาม สาวเอยสาวงาม งามเหลือใจ”

“โอ้กุหลาบสวรรค์ แห่งเมืองปากซัน ที่อ้ายใฝ่ฝันหมายปอง ใจหวังอยู่เคียงประคอง กุหลาบเป็นสีดั่งทอง เมื่อยามแสงส่อง จากดวงสุรีย์”

ไม่มีใครไม่รู้จักเพลงนี้ หลายคนฝันเห็นดอกกุหลาบปากซัน ถึงขั้นตามรอยเพลง “กุหลาบปากซัน” ไปจนถึงบริเวณน้ำซันไหลบรรจบน้ำโขง และเป็นที่ตั้งเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ

มาถึงวันนี้ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จะเริ่มลงมือตอกเสาเข็มกลางน้ำโขง และคาดว่า สะพานแห่งนี้จะสร้างเสร็จในอีก 3 ปีข้างหน้า

น้ำซันไหลลงแม่น้ำโขงที่ปากซัน

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2563 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ กระทรวงการเงิน ได้ลงนามเซ็นสัญญกู้ยืมเงินจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA สำหรับโครงการสร้างสะพานข้ามน้ำโขง มิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 (บอลิคำไซ-บึงกาฬ) มูลค่า 1,380 ล้านบาท ซึ่งการให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับ สปป. ลาว ในรูปแบบของเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพลาว-ไทย แห่งที่ 5 ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ผ่านทางหลวงแห่งชาติเลขที่ 8 เข้าสู่เวียดนาม โดยผ่านด่านน้ำพาว-เกาแจว

สะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 บึงกาฬ-ปากซัน

เชิงสะพานฝั่งลาวจะอยู่ระหว่างบ้านกล้วยอุดมถึงบ้านหางซิงสะหว่าง เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ส่วนฝั่งไทยอยู่ที่บ้านห้วยเชื่อม อำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ สะพานมีความยาว 1,300 เมตร มูลค่าก่อสร้างทั้งหมด 3,900 ล้านบาท คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

ปี 2566 คนไทยที่ต้องการตามรอยมนต์ขลังเพลง “กุหลาบปากซัน” ก็สามารถขับรถข้ามสะพานไปเที่ยวชมตะวันตกดินที่ปากซันได้สะดวกขึ้น

เมืองปากซัน ตรงข้ามคือ จ.บึงกาฬ

ความโด่งดังของเพลงกุหลาบปากซัน ทำให้เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไช เป็นที่รู้จักของคนลาวในต่างแขวง และคนไทย แต่น้อยคนนักที่จะรู้ที่มาที่ไปของอมตะเพลงลาวเพลงนี้

ผู้ประพันธ์เพลงกุหลาบปากซัน คือ “จำปา ลัดตะนะสะหวัน” หรือนามปากกา “สุลิวัต” ชาวคุ้มวัดไซยะพูม เมืองคันทะบุลี(ชื่อเดิม) แขวงสะหวันนะเขต ฝั่งตรงข้ามกับ อ.เมืองมุกดาหาร

ปี 2496-2500 หนุ่มจำปาได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ส่งตัวเขาเข้ามาเรียนช่างสำรวจก่อสร้าง ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ทุ่งมหาเมฆ ระหว่างเรียนช่างสำรวจ ได้รวบรวมเพื่อนนักศึกษาลาว ตั้งวงดนตรี “ลาวรวมมิตร” แสดงให้เพื่อนนักศึกษาไทยได้ชม เมื่อจำปาเรียนจบ ก็กลับสู่บ้านเกิดและได้เข้ารับราชการเป็นช่างโยธา แขวงสะหวันนะเขต

ปี 2502 จำปาเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายที่เมืองปากซัน เย็นวันหนึ่ง เขาไปนั่งดูตะวันตกดินที่ริมน้ำซัน เห็นสาวๆลงเล่นน้ำ เลยเกิดแรงบันดาลใจแต่งเพลงจีบสาวปากซันชื่อ “กุหลาบปากซัน”

สุลิวัต ผู้แต่งเพลงกุหลาบปากซัน

ปีเดียวกัน มีการประกวดวงดนตรีในนครหลวงเวียงจันทน์ “สันติ พิมสุวัน” หัวหน้าวงดนตรีหนุ่มสีไค ได้นำเพลงกุหลาบปากซัน ไปประกวดแต่ได้อันดับ 3 หลังจากนั้น สันตินำไปร้องตามงานต่างๆ ไม่ได้มีการอัดแผ่นเสียง

สันติ พิมสุวัน อดีตนายทหารสังกัดฝ่ายลาวเป็นกลาง เป็นคนร้องเพลงกุหลาบปากซันคนแรก ไม่ใช่ ก.วิเสส หรือบัวเงิน ซาพูวง ตามที่เข้าใจกัน

แม้แต่ “สีเผือก คนด่านเกวียน” เป็นชาวบึงกาฬโดยกำเนิด ที่นำเพลงกุหลาบปากซัน มาบันทึกเสียงในเมืองไทย ก็ไม่ได้เป็นผู้แต่งเพลงนี้ เหมือนที่คนไทยบางส่วนเข้าใจผิดกันมานาน

บัวเงิน ซาพูวง ผู้ทำให้เพลง “กุหลาบปากซัน” กลับมาโด่งดังอีกครั้ง

บ้านเมืองลาวสมัยโน้น เกิดสงครามกลางเมือง แบ่งเป็น 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายซ้ายเจ้าสุพานุวง ฝ่ายเป็นกลาง เจ้าสุวันนะพูมา และฝ่ายขวา นายพลพูมี หน่อสะหวัน กับเจ้าบุนอุ้ม ณ จำปาสัก

ปี 2503 จำปาถูกเรียกไปสังกัดหน่วยทหารจิตวิทยา กองทัพภาคที่ 3 (แขวงสะหวันนะเขต) ภายใต้การนำของ นายพลพูมี หน่อสะหวัน เขาทำหน้าที่ร้องและแต่งเพลงให้วงดนตรีกองทัพ มีผลงานสร้างชื่อหลายสิบเพลง

เพลงที่จำปาแต่ง มีมากกว่า 300 เพลง แต่ที่คนไทยคุ้นหูคือ กุหลาบปากซัน สองฝั่งโขง เวียงในฝัน และปลาแดกก้นไห

มุมกว้างเมืองปากซัน

ปี 2518 ลาวเปลี่ยนระบอบการปกครอง จำปาไม่ได้เดินทางไปสหรัฐ เหมือนเพื่อนทหารลาวฝ่ายขวา เขาขออยู่แผ่นดินเกิด ทำรับใช้สังคมด้วยเสียงเพลง บั้นปลายของชีวิต จำปาตั้งบริษัทรับจ้างทำประตูเหล็ก แต่งเพลงไว้รับใช้สังคม และพรรค/รัฐ จำนวนหนึ่ง

ปลายปี 2536 นักเพลงอาวุโสล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย และจากไปอย่างสงบ เมื่อหัวรุ่งวันที่ 13 เม.ย.2537

จำปาหรือสุลิวัต ทิ้งมรดกเพลงไว้ให้คนลาวและคนไทยนำมาร้องบันทึกเสียง อัลบั้มแล้วอัลบั้มเล่า ผู้ดูแลลิขสิทธิ์เพลงของสุลิวัตคือ ป้าเวียงแก้ว ลัดตะนะสะหวัน ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก และเพลงกุหลาบปากซัน ได้มีการทำซ้ำในไทยไม่ต่ำกว่า 20 เวอร์ชั่น แต่มีเพียงตัวแทนค่ายเพลงไทย 2-3 ราย ที่ติดต่อจ่ายค่าสิขสิทธิ์ผ่านป้าเวียงแก้ว

เพลงของจำปาถูกนำมาร้องบันทึกเสียงใหม่โดยนักร้องยอดนิยมทั้งของไทย และลาว

ปี 2550 กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมฯ สปป.ลาว ได้จัดพิธีมอบเหรียญชัยเชิดชูให้ “สุลิวัต” หรือ “จำปา” เป็นศิลปินแห่งชาติ โดยป้าเวียงแก้ว เดินทางไปรับเหรียญชัยด้วยตัวเอง

โอ้กุหลาบสวรรค์ แห่งเมืองปากซัน ที่อ้ายใฝ่ฝันหมายปอง ใจหวังอยู่เคียงประคอง กุหลาบเป็นสีดั่งทอง เมื่อยามแสงส่อง จากดวงสุรีย์

เพลงกุหลาบปากซัน คนด่านเกวียน (Official MV) จาก Youtube: BKP Music

อีกไม่นาน สะพานแห่งมิตรภาพของมหาชนสองฝั่งโขง จะเป็นจริง เมืองปากซันที่หลายคนหมายปอง ก็จะไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น

Related Posts

Send this to a friend