FEATURE

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ติดตามข่าวการเมืองแบบไม่ทำร้ายสุขภาพจิต

ในช่วงที่การเมืองกำลังร้อนแรง ข่าวสารมากมายถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง และการเมืองแทบจะเป็นหัวข้อหลักในการพูดคุยทั้งในชีวิตจริง และโลกออนไลน์ จะพบว่า หลายๆ คนเริ่มเกิดภาวะเครียด จากการติดตาม รับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือ ‘เสพข่าวการเมือง’ อย่างต่อเนื่อง

ภาวะความเครียดดังกล่าว ส่งผลต่ออารมณ์ และจิตใจ ทำให้เกิดความหงุดหงิด ก้าวร้าว เบื่อหน่าย สิ้นหวัง หมกมุ่น ฟุ้งซ่าน ไปจนถึงการส่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น การปวดศีรษะ หรือการปวดเมื่อยร่างกาย เป็นต้น นอกจากนี้ ในบางกรณี ยังส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนได้อีกด้วย ทั้งจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และจากการที่ต่างก็มีภาวะเครียด จนนำไปสู่ความก้าวร้าว รุนแรง หรือเถียงเอาชนะกัน

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อติดตามการเมืองมากเกินไป จะทำให้รู้สึกเครียด โดยเฉพาะการรับข้อมูลที่ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง

ติดตามข่าวสารมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียด ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย และสภาพจิตใจ
“การการติดตามการเมืองมากไปนั้น จะทำให้เรารู้สึกเครียด เพราะรับข้อมูลฝ่ายเดียว โดยเฉพาะข้อมูลที่ทำให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ที่มักจะทำให้อารมณ์พลุ่งพล่าน และเครียดสูงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่พยายามติดตามข่าวสารการเมืองให้มากขึ้น หรือใช้เวลามากเกินไปในการดูข่าวการเมืองมากเกินไป ที่สำคัญทำให้เสียเวลาในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน หรือครอบครัว เพราะมัวแต่จ้องอยู่หน้าจอ เช่น ทำให้ไม่ได้ออกกำลัง ไม่ได้กินข้าวกับครอบครัว ไม่ได้เล่นกับลูก”

นายแพทย์ยงยุทธ แนะนำว่า วิธีรับมือที่ดีที่สุด คือ การเลือกรับข่าวสารจากสื่อที่มีความเป็นกลาง นำเสนอข่าวรอบด้าน ไม่มีเนื้อหาเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพียงทางเดียว เพื่อช่วยให้เกิดการรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่มีเหตุผลมากขึ้น และควรเว้นระยะเวลาในการติดตามข่าวสาร และไม่ควรรับชมเกิน 2-3 ชั่วโมงติดกัน เพราะหากเป็นข้อมูลที่เป็นด้านเดียว ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดสูงขึ้น

“ภาวะเครียด จากการติดตามเรื่องการเมืองมากเกินไปนั้น ไม่ใช่ปัญหาสุขภาพจิต หรือไม่ใช่อาการเจ็บป่วยทางด้านจิตเวช คนทั่วไปที่รับชมข่าวสารในลักษณะดังกล่าว ถึงร้อยละ 80 สามารถประสบภาวะดังกล่าวได้ ยังไม่จำเป็นต้องมาพบจิตแพทย์ แต่สามารถปรับตัวด้วยการลดเครียด โดยการใช้หลัก “2 ไม่ 1 เตือน” เพื่อทำให้รู้สึกมีคุณค่าในตัวเองมากขึ้น และรับข้อมูลข่าวสารทางการเมือง อย่างเป็นกลางๆ และมีเหตุมีผลมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพด้านต่าง และช่วยให้สังคมสงบสุขครับ” นพ.ยงยุทธ์ กล่าว

สำหรับหลัก 2 ไม่ 1 เตือน คือ

1.ไม่ผลิตไม่ส่งต่อข้อความหรือข้อมูล ที่เป็นเฟคนิวส์หรือเรื่องไม่จริง

2.ไม่พูดหรือสื่อสารในลักษณะ การสร้างความเกลียดชังไปสู่สังคม
ส่วนหลัก “1 เตือน” คือการเตือนกลับไปสู่ที่ส่ง หรือผลิตข้อความดังกล่าว ว่าข้อมูลที่ส่งต่อมาเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคม และไม่เป็นผลดีกับทั้ง 3 ฝ่าย (ผู้พูด ผู้ฟัง คนในสังคม)

“หลักการ “2 ไม่ 1 เตือน” นี้ จะทำให้ตัวผู้พูดหรือส่งข้อความต่างๆ นั้น รู้ตัว และระวังในการส่งต่อคำพูด หรือข้อมูลมากขึ้น ทำให้เพื่อนหรือคนที่อยู่ในกรุ๊ปไลน์ เรียนรู้ไปด้วยว่าข้อมูลไหนที่เป็นเฟคนิวส์ และไม่ควรได้รับรู้ และป้องกันไม่ให้สังคม เต็มไปด้วยความเกลียดชัง” นพ.ยงยุทธ์ กล่าว

Cyberbully การสาดคำพูดรุนแรง สร้างความเกลียดชัง เลี่ยงได้เลี่ยง!

ข้อมูลจาก สสส. ระบุว่า “การระรานทางไซเบอร์” หรือ Cyberbully คือ การกลั่นแกล้ง คุกคาม หรือระรานผู้อื่นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ผ่านโซเชียลมีเดีย การส่งข้อความ การเล่นเกม และโทรศัพท์มือถือ การ Cyberbully เป็นพฤติกรรมที่มักเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัว ยั่วโมโห หรือสร้างความอับอายให้แก่ผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย” ซึ่งปัจจุบัน จากการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางทำให้เกิดการระรานทางไซเบอร์ได้ง่ายขึ้น

นพ.ยงยุทธ์ อธิบายว่า ประเด็น Cyberbully หรือการใช้คำพูดที่รุนแรงในโลกออนไลน์ ประกอบด้วย 2 กลไก ได้แก่ การใช้วาทกรรมสร้างความเกลีดชัง หรือ Hate Speech และ เฟคนิวส์ Fake News หรือเรื่องไม่จริง เพื่อทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นคนไม่ดี

“Cyberbully จะส่งผลเสียต่อ ตัวผู้พูดเอง ผู้ฟัง และสังคม โดยตัวผู้พูดเอง จะอยู่กับอารมณ์เกลียดหรืออารมณ์ด้านลบ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิต เพราะแทนที่จะให้ความรู้สึกว่า ความเห็นต่างในสังคมนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ก็กลายเป็นว่าไม่สามารถยอมรับความเห็นต่างนี้ได้ ที่สำคัญความเกลียดชัง จะนำไปสู่ความรุนแรง หรือการทำร้ายซึ่งกันและกัน ที่จะส่งผลกระทบต่อคนอื่น และกระต่อกระทบต่อสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะความรุนแรงในสังคม ที่ทำให้สังคมถอยหลัง”

“ท้ายที่สุดคือทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งคำว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้น ไม่ใช่การเจ็บป่วย หรือเป็นโรคจิตแต่อย่างใด แต่อาจจะสร้างอารมณ์ด้านลบให้กับตัวเราเอง ที่สำคัญการที่คนอยู่กับอารมณ์ด้านลบตลอดเวลา แน่นอนว่าก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพด้านต่างๆได้” นพ.ยงยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend