FEATURE

สอบปมแบ่งเงินค่าเวนคืนคลื่นให้เอกชน และหลายปมลึกลับใน อสมท. (ตอนที่ 3)

ในที่สุด นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.อสมท ออกคำสั่งตั้งกรรมการสอบนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท หลังทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้แบ่งเงินค่าชดใช้หรือค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต หรือเรียกสั้นๆ ว่าเงินเยียวยาค่าคลื่น ที่จะจ่ายให้ บมจ.อสมท นั้นให้แบ่งให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ในจำนวนเท่าๆ กัน ทั้งสองฝ่าย

ทำให้เกิดการทักท้วงจากคณะกรรมการ บมจ.อสมท ส่วนหนึ่ง จนมีการตัดสินใจลาออก เพราะรับไม่ได้กับเรื่องนี้แล้ว 3 คน อีกทั้งมีข้อครหาว่า นายเขมทัตต์ ไม่รักษาผลประโยช์ขององค์กร และผลประโยชน์ของชาติ จึงต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน

นายเขมทัตต์ เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย บมจ.อสมท  เมื่อปี 2548 – 2555 จากนั้น ปี 2556 ลาออกไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทสปา – ฮาคูโฮโด จำกัด และดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี ในปี 2557 ก่อนจะลาออกจากสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี โดยไม่ทราบเหตุผล และสมัครเป็นแคนดิเดตกรรมการผู้อำนวยการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของ อสมท ได้รับคัดเลือก เข้าดำรงตำแหน่งนี้ เมื่อ 7 มีนาคม 2560

เขาเข้ามารับตำแหน่งสำคัญ ในช่วงที่ภาวะของวงการทีวีดิจิตอลกำลังประสบปัญหารายได้จากการโฆษณาต่ำ การที่ได้ชื่อว่าเป็นลูกหม้อคนหนึ่งของ บมจ.อสมท จึงเป็นความคาดหวังว่าจะนำพาองค์กรแห่งนี้ฝ่าวิกฤติสื่อที่กำลังถูกเทคโนโลยีกลืนกิน แต่ผลงานของเขาที่ผ่านมานั้น ถูกตั้งคำถามหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะกรณีการมีจุดยืนเสนอแบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่นให้บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญา คนละครึ่งจากจำนวนของเงินเยียวยาที่จะได้จาก กสทช. 3,235 กว่าล้านบาท

ก่อนหน้านี้ นายเขมทัตต์ ถูกตั้งคำถามจากพนักงานใน บมจ.อสมท ว่า บทบาทของเขาได้ปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2561 เกิดเหตุการณ์ทำนองลักษณะเดียวกันมาแล้ว นั่นคือการผลิตสกู๊ปและประชาสัมพันธ์กิจกรรมให้บริษัทเอกชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ย้อนกลับไปวันที่ 30 สิงหาคม 2561 กรรมการบริษัทบีอิ้งซัสเทน จำกัด ได้ส่งหนังสือถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ขอความอนุเคราะห์สนับสนุนสื่อประชาสัมพันธ์งานประชุม SB ‘ 18 Bangkok (Sustainable Brands 2018, Bangkok) ซึ่งระบุว่าเป็นการประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนด์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จะจัดที่พิพิธภัณฑ์ปลากัดไทย บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 12-13 ตุลาคม 2561

ตอนนั้น นายเขมทัตต์ มอบหมายเมื่อ 3 กันยายน 2561ให้นายธิติพร จุติมานนท์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่าย 9 MCOT HD ดำเนินการ ต่อมานายธิติพร ได้ทำบันทึกข้อความภายในเสนอกลับต่อนายเขมทัตน์ เพื่อขออนุมัติการประชาสัมพันธ์ งานประชุม SB ‘ 18 Bangkok (Sustainable Brands 2018, Bangkok) 3 ช่องทางดังนี้

สื่อโทรทัศน์ช่อง 9 MCOT HD

1.สกู๊ปในรายการข่าวเที่ยงจำนวน 1 ครั้ง
2.สกู๊ปในรายการข่าวค่ำจำนวน 1 ครั้ง
3.พูดประชาสัมพันธ์ในรายการเช้าชวนคุย จำนวน 2 ครั้ง
4.พูดประชาสัมพันธ์ในรายการคุยโขมงบ่ายสามโมง จำนวน 1 ครั้ง
5.พูดประชาสัมพันธ์ในรายการข่าวค่ำจำนวน 3 ครั้ง
6.พูดประชาสัมพันธ์ในรายการคับข่าวครบประเด็น จำนวน 3 ครั้ง
7.พูดประชาสัมพันธ์ในรายการคู่ข่าวเสาร์-อาทิตย์ จำนวน 1 ครั้ง
8.สปอตโปรโมทกิจกรรม (ความยาว 30 วินาที) จำนวน 50 ครั้ง

สื่อวิทยุ FM 96.5 MHz

1.ประชาสัมพันธ์ความยาวประมาณ 1-2 นาที ในรายการ CEO VISION จำนวน 2 ครั้ง
2.ประชาสัมพันธ์ความยาวประมาณ 1.2 นาที ในรายการ รู้ใช้เข้าใจเงิน จำนวน 2 ครั้ง
3.ประชาสัมพันธ์ความยาวประมาณ 1-2 นาที ในรายการ 96.5 อัพเดท จำนวน 2 ครั้ง
4.ประชาสัมพันธ์ความยาวประมาณ 1-2 นาที ในรายการ Start Up to growth จำนวน 2 ครั้ง
5.สัมภาษณ์ใรรายการห้องรับแขก ความยาวประมาณ 5-10 นาที จำนวน 1 ครั้ง
6.สปอตโปรโมทกิจกรรม (30 วินาที) จำนวน 20 ครั้ง

สื่อออนไลน์

1.Template ประชาสัมพันธ์ในเพจ 9 ENTERTAIN จำนวน 2 ครั้ง
2.Template ประชาสัมพันธ์ในเพจ 9 MCOT HD จำนวน 2 ครั้ง

ราคาค่าโฆษณาทุกรายการดังกล่าวรวม 5,060,000 บาท แต่ บมจ.อสมท ให้ส่วนลดแก่บริษัทบีอิ้งซัสเทน 100 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ไม่เก็บค่าใช้จ่ายค่าโฆษณาจากบริษัทบีอิ้งซัสเทน ดำเนินการให้ฟรีทั้งหมด โดยนายเขมทัตต์ ได้อนุมัติหลักการดังกล่าวเมื่อ 6 กันยายน 2561

ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลของบริษัทบีอิ้งซัสเทน จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีชื่อบุคคลหนึ่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการ บมจ.อสมท เป็นกรรมการของบริษัทบีอิ้งซัสเทน

เมื่อตรวจสอบลึกลงไป พบว่า กรรมการบริษัทบีอิ้งซัสเทน จำกัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการ บมจ.อสมท เป็นประธานกรรมการกำหนดค่าตอบแทน ใน บมจ.อสมท ซึ่งต้องทำหน้าที่ประเมินผลงานของนายเขมทัตต์ ซึ่งแต่ละปี บรรดาพนักงานต่างมีการวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของนายเขมทัตต์ แต่ก็ผ่านการประเมินได้ทุกปี จึงเป็ตที่มาของการตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของ กอญ.อสมท.

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการบริหารงานที่เกิดขึ้นใน บมจ.อสมท ยังมีการบริหารอีกหลายเรื่อง ที่มีความพยายามตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล โดยเฉพาะการจัดซื้อรายการภาพยนตร์จีน สารคดี การ์ตูน ที่ล้วนมีคำถามจากพนักงาน บมจ.อสมท เกิดขึ้นมากมาย

Related Posts

Send this to a friend