FEATURE

เมื่อ ‘รถเมล์’ อัปเกรดเป็น ‘รถไฟฟ้า’ ลดปัญหามลพิษ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อถามถึง “รถเมล์” ภาพจำของคนไทย รุ่นเก๋าคงนึกถึง รถเบนซ์ 2 ประตู 20 หน้าต่าง ทั้งรถ ขสมก. และรถร่วมบริการ ไปจนถึงรถมินิบัสคันเล็กวิ่งเร็วเข้าโค้งแต่ละครั้งต้องเกาะราว เกาะเก้าอี้กันแน่นๆ แต่ถ้ารุ่นกลาง อาจจะนึกถึงรถไมโครบัส ไปจนถึงรถยูโร … แต่ตอนนี้ถึงเวลาเปลี่ยนภาพจำเหล่านั้น แล้วแทนที่ด้วย “รถเมล์ไฟฟ้า” ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการลดมลพิษ การลดใช้พลังงาน และมีชานต่ำเหมาะกับสังคมผู้สูงอายุ และรองรับผู้พิการ ผู้สูงอายุบนวีลแชร์ ซึ่งคนไทยเรียกร้อง และอยากได้มานาน แต่มาเริ่มใช้จริงกันได้ในปี 2565 นี้เอง

รถเบนซ์ 2 ประตู 20 หน้าต่าง สาย 8 ในตำนานที่หยุดให้บริการในปีนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ คนไทยได้นั่งรถเมล์ไฟฟ้าครั้งแรก เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเริ่มจากรถเมล์ปรับอากาศไฟฟ้าสาย 2-38 (สาย 8 เดิม) เส้นทางแฮปปี้แลนด์ – ท่าเรือสะพานพุทธ นำร่อง 40 คัน และทดลองเปิดให้บริการเพิ่มอีก 20 คัน ช่วงปลายเดือนกันยายน ใน 2 สาย คือ สาย 17 พระประแดง – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสาย 82 ท่าน้ำพระประแดง – บางลำพู โดยมีเจ้ากระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ให้ความสำคัญ และมาเป็นประธานในพิธีเปิดทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศตั้งเป้าจะเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าในทุกเส้นทางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ภายใน 3 ปี เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน โดย นายศักดิ์สยาม ได้ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เริ่มดำเนินการในระบบรถร่วม จนบริการรถไฟฟ้ามีให้บริการได้จริง

งานเปิดตัวรถเมล์ไฟฟ้าสายแรกในประเทศไทย

เสียงตอบรับกับรถเมล์ไฟฟ้าสายแรกในไทย

ความพยายามดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้ใช้งาน จากการสำรวจผู้ใช้บริการสาย 2-38 ที่ดำเนินการโดย บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด พบว่า มีผู้นิยมใช้บริการในแต่ละวัน มีค่าเฉลี่ยมากกว่า 7,000 คน ต่อวัน โดยส่วนใหญ่ระบุว่าจุดเด่นคือความสะดวกสบายภายในกว้างขวางนั่งสบาย สะอาด ปลอดภัย มีการจำกัดจำนวนผู้โดยสารป้องกันความแออัด และสามารถชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

รถเมล์ไฟฟ้าที่รองรับการเดินทางของทุกคน รวมถึงผู้ใช้วีลแชร์

ส่วนเรื่องของราคาผู้ใช้งานส่วนหนึ่งมองว่ามีความเหมาะสม คือตั้งราคาไว้ตามระยะทาง ระหว่าง 15-20-25 บาท แต่บางส่วนมองว่าหากมีการใช้มากในแต่ละวันควรมีการทำราคาพิเศษเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ในแผนการดำเนินงาน โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้มีการจัดทำตั๋วประเภทพิเศษที่หากมีการใช้บริการภายในวันครบ 40 บาทแล้ว จะไม่มีการเก็บค่าโดยสารเพิ่มสำหรับการใช้บริการหลังจากนั้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน พร้อมขอความร่วมมือให้มีค่าโดยสารราคาพิเศษสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอีกด้วย

รถเมล์ไฟฟ้าที่รองรับการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

ขนส่งมวลชนด้วยพลังงานสะอาด

ในความเป็นจริงแล้ว จุดเด่นหลักของรถเมล์ไฟฟ้า คือเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาด ที่ไม่ทำลายสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกจากจะ ลดการใช้พลังงานแล้วหากสามารถปรับมาเป็นรถประจำทางไฟฟ้าได้ทั้งระบบ จะลดการก่อมลพิษ และสร้าง PM2.5 ในเมืองได้อีกมาก และในอนาคตอาจพัฒนาขึ้นไปเป็นการใช้พลังงานไฮโดรเจนในอนาคต เพื่อร่วมดูแลรักษ์โลก สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงคมนาคม ส่งเสริมสนับสนุนการใช้รถโดยสารสาธารณะพลังงานไฟฟ้า ลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับการเดินทาง

“การเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะมาเป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นทั้งในแง่การใช้งาน และในแง่สิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมพูดไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำงานที่กระทรวงคมนาคม แม้จะใช้เวลานานในการทำงานนี้จนสำเร็จ แต่ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ หากตั้งใจจะทำ และตั้งเป้าว่าในอนาคต จะขับเคลื่อนนโยบายนำรถเมล์ไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลครบจำนวน 237 เส้นทาง ซึ่งสาย 8 เป็นสายแรกที่เริ่มนำร่องในแผนปฏิรูป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

เป้าหมายคมนาคมไร้รอยต่อ เชื่อม รถ เรือ ราง ไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมไม่ได้วางเป้าหมายไว้เฉพาะโครงข่ายการขนส่ง ทางถนนเพียงเท่านั้น แต่มองไปถึงภาพของระบบการขนส่งสาธารณะที่เชื่อมโยงทุกการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ให้รถ – เรือ – ราง เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในชีวิตประชาชนที่สะดวก ปลอดภัย และเข้าถึงง่ายแก่คนทุกคน สร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจแก่ผู้เดินทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายศักดิ์สยาม ย้ำว่า ภายใต้การเร่งรัดการดำเนินการในปีนี้จะมีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเป็น 972 คัน ใน 77 เส้นทาง จากการผลักดันนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 ปลายปีนี้พี่น้องประชาชนจะสามารถใช้บริการเครือข่ายรถเมล์พลังงานสะอาด กว่า 1,250 คัน ใน 122 เส้นทางที่ปฏิรูปใหม่ ซึ่งได้มีการวางแผนเชื่อมต่อระบบ ล้อ – ราง – เรือ อย่างครบวงจร นับเป็นอีก 1 ผลงานของรัฐมนตรีจากค่ายภูมิใจไทย ที่ใช้สโลกแกน ‘พูดแล้วทำ’

คงต้องจับตากันต่อว่า “งานยาก” ในการเปลี่ยนรถเมล์ร้อน ให้เป็นรถขนส่งมวลชนพลังงานสะอาดทั้งระบบในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จะเกิดขึ้นได้ภายใน 3 ปีตามที่ประกาศไว้หรือไม่

Related Posts

Send this to a friend