FEATURE

“แม่ใหญ่” แห่ง “สมัชชาคนจน”

เสียงตะบันหมาก
ริมคลองผดุงกรุงเกษม
ของเหล่า “แม่ใหญ่”
——

แม่ใหญ่ 4 คนกำลังนั่งตะบันหมาก
อยู่ริมกำแพงกระทรวงศึกษาฯ
หลังเดินกลับจากฟังสรุปสถานการณ์ประจำวัน
จากเวทีใหญ่ในช่วงเย็น
แม้กรำแดดกรำฝน
และฝุ่นพิษ-พีเอ็ม 2.5 มากว่า 1 สัปดาห์
แต่เหล่าแม่เฒ่าก็ผ่านมันมาได้โดยยังไม่เจ็บไข้

แม่ใหญ่ทั้ง 4 คนเป็นส่วนหนึ่งของสมัชชาคนจน
ที่ปักหลักเรียกร้องความเป็นธรรมและการแก้ปัญหาจากรัฐบาล
บางคนอายุ 84 ปีบางคนอายุ 74 ปี
รวมๆกันแล้วเกิน 300 ปี
แทนที่แม่เฒ่าเหล่านี้จะได้มีความสุขตามอัตภาพ
ตามท้องทุ่งท้องนาที่อยู่มาทั้งชีวิต
กลับต้องทนทุกข์ยากคอยหลบแดดหนีฝน
อยู่ในเพิงผ้าใบเล็กๆกลางเมืองหลวง
ทำไม…และ ทำไม…

“แม่มีที่นาอยู่ 11 ไร่พอเขาสร้างเขื่อนหัวนา

น้ำท่วมที่นาทุกปีนทำนาไม่ได้”

แม่ใหญ่เหลา วัย 84 บอกถึงสาเหตุ
ที่ต้องเดินทางมาจากบ้านใน อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
มานอนค้างอ้างแรมในเมืองใหญ่

“โอ้ย ที่ดินเราบุกเบิกมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่นู้น” ยายเหลาตอบทันทีที่ถูกถาม
ถึงระยะเวลาที่แกครอบครอบที่นาผืนนี้
แม้แกจำปีพ.ศ.ไม่ได้แต่ก็เชื่อว่านานนับชั่วอายุคน
เช่นเดียวกับแม่เฒ่าคนอื่นๆที่ต่างครอบครองที่ดินมานาน
แต่วันดีคืนดีต้องถูกน้ำท่วมเนื่องจากโครงการของรัฐบาล

เขื่อนหัวนาหรือที่รัฐบาลพยายามเลี่ยงใช้คำว่า “ฝาย”หัวนา
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูลซึ่งผลักดันโดย “อีดี้” ประจวบ ไชสาส์น
ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ชุดพลเอกชาติชาย เมื่อปี 2532   
เริ่มต้นโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ตอนแรกก็ตั้งท่าแค่เป็นฝายยางแต่สุดท้ายกลับแปลงร่างเป็นเขื่อน 14 บานประตู
กลายเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในการกั้นลำน้ำมูล
แล้วเสร็จเมื่อปี 2538

ส่งผลกระทบโดยเฉพาะน้ำท่วมที่ดินทำกินในบริเวณกว้างหลายหมื่นไร่
ของชาวบ้าน 9,737 ครอบครัว ใน 5 อำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ
หลังจากมีการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการ
เขื่อนหัวนาได้โอนความรับผิดชอบมาเป็นของกรมชลประทาน
ที่น่าประหลาดก็คือกระบวนการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาต่างๆ
กลับต้องสะดุดหยุดลงจนชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้อง
จนปัจจุบันผ่านไปกว่า 20 ปีก็ยังไม่มีการจ่ายให้กับชาวบ้าน

ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนา
โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกฯ เป็นประธาน
มีการตั้งอนุกรรมการ 2 ชุดเพื่อแก้ไขในระดับจังหวัดและศึกษาประเมินค่าเสียหาย
แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทั้งหมดก็อันตรธาน

พอยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้มอบหมายให้นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ เป็นประธาน
ซึ่งได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ 2 ชุดขึ้นมาพิจารณา
กระบวนการเดินหน้าไปพอสมควร
ทั้งในเรื่องการพิสูจน์สิทธิและการศึกษาค่าชดเชย
แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทุกอย่างก็ต้องมาเริ่มต้นกันอีก

ปี 2561 ความเดือนร้อนจากเขื่อนหัวนาตกมาอยู่ในมือนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรฯ
การดำเนินการมีความคืบหน้าไปมากจนได้ข้อสรุปในระดับหนึ่ง
โดยมีกระบวนการตรวจสอบสิทธิ์ 5 ขั้นตอน
ก่อนเสนอให้ ครม.อนุมัติงบประมาณการจ่ายในขั้นสุดท้าย
แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จคืออยู่ในขั้นตอนที่ 3 (ติดประกาศและอำเภอเห็นชอบ)
ก็มีอันต้องเปลี่ยนรัฐบาลอีกครา
และทุกอย่างทำท่าจะถูกแช่แข็งอีกเช่นเคย

ในที่สุดเหล่าแม่ใหญ่จึงต้องมานั่งตะบันหมากอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกครั้ง
แต่ผ่านไปแล้ว 9 วันยังไม่มีคำตอบใดๆจากรัฐบาล
ที่ทำให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่ใจชื้นขึ้นมาเลย

Related Posts

Send this to a friend