POLITICS

‘รังสิมันต์’ ชี้ การเสนอชื่อ ‘พิธา’ ซ้ำรอบสองไม่ใช่ ญัตติ ขอ อย่าเอาข้อบังคับมาขัดรัฐธรรมนูญ

‘รังสิมันต์ โรม’ ชี้ การเสนอชื่อ ‘พิธา’ ซ้ำรอบสอง ไม่ใช่ ญัตติ ขอ อย่าเอาข้อบังคับมาขัดรัฐธรรมนูญ ถามที่ประชุม เป็น สส. มากี่สมัย ทำไมไม่เข้าใจกฎหมาย

วันนี้ (19 ก.ค. 66) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (สส.) พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายในสภา ถึงการพิจารณาญัตติตามข้อบังคับที่ 151

นายรังสิมันต์ ระบุว่า การตีความกฎหมายแบบนี้จะกระทบต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องมติการโหวตเลือกนายกฯ เพียงแค่ท่านไม่ต้องการให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ถึงขนาดทำลายทุกหลักการในรัฐธรรมนูญลง “เผาบ้านเพื่อนไล่หนู” โดยแบ่งเป็น 4 เหตุผลด้วยกัน

นายรังสิมันต์ ระบุว่า กระบวนการการพิจารณาที่เรากำลังพิจารณาอยู่นี้มีสองคำคือการเสนอชื่อบุคคล และญัตติ มีความหมายคนละเรื่อง ไม่อาจเอามาปนกัน เพราะการเสนอชื่อบุคคล เห็นชอบบุคคล การพิจารณาตัวบุคคล มีปัจจัยหลายอย่าง พิจารณาประกอบกัน หากมีความมุ่งหมายไม่เสนอบุคคลซ้ำ ต้องบัญญัติกฎหมายอย่างชัดแจ้ง การหยิบยกข้อบังคับที่ 41 ว่าการเสนอนนายพิธา เป็นการเสนอญัตติซ้ำ จึงเป็นการพิจารณาตีความกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง

“ท่านเป็น สส. กันมากี่สมัย กฎหมายสูงสุดไม่เข้าใจกันหรืออย่างไร”

นายรังสิมันต์ ระบุต่อว่า การมาอยู่ตรงนี้เป็นเพราะรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการที่ยืนยันว่า ไม่มีกฎหมายใดที่สามารถโต้แย้ง ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ เมื่อไปดูตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเรื่องการโหวตเลือกนายกฯ ในมาตรา 159 ก็ระบุไว้ว่าการลงมติเลือกนายกให้เลือกจากแคนดิเดต ผู้ซึ่งอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งเอาไว้ โดยการแจ้งรายชื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ที่ให้พรรคการเมืองส่งชื่อชิงนายกนั้น ไม่มีส่วนไหนที่บอกว่า หากถูกลงมติไม่ผ่าน ห้ามเสนอซ้ำ

“เอากฎหมายระดับข้อบังคับการประชุม ซึ่งมีศักดิ์ต่ำกว่ากฎหมายธรรมนูญมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นความมุ่งหมายที่ประสงค์ร้าย ที่ต้องการตีความข้อบังคับนี้ ให้กับตัวรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะต้องการแต่ขัดขานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

นายรังสิมันต์ ระบุว่า การลงมติเลือกนายก ไม่ใช่เลือกใครก็ได้ แต่ต้องเลือกจากแคนดิเดต ที่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 การที่เขาคนนั้นไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา ในการลงมติครั้งแรก เขาสูญเสียสถานะของการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไปเลยหรือไม่ ซึ่งไม่มีตรงไหน ในรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ ดังนั้น จะเอาข้อบังคับ เพื่อให้เป็นโทษกับสถานะของแคนดิเดตนายกฯ ที่รัฐธรรมนูญรับรองเอาไว้ จะทำแบบนั้นไม่ได้เด็ดขาด เป็นการตีความข้อบังคับ ขัดกับกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้

นายรังสิมันต์ ระบุต่ออีกว่า หากลองพิจารณามาตรา 272 วรรคสอง เรื่องการปลดล็อคให้เลือกนายกคนนอก เมื่อไม่สามารถเลือกแคนดิเดตจากรายชื่อที่พรรคการเมืองส่งมาได้ ซึ่งหลังจากเสนอนายกฯ คนนอก ก็ยังเสนอชื่อแคนดิเดตตามรายชื่อของพรรคการเมืองได้อีก จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าในรัฐธรรมนูญให้เสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำ โดยไม่สนใจว่าจากเคยหรือไม่เคยได้รับความไว้วางใจ หรือความเห็นชอบจากสภามาก่อน

นายรังสิมันต์ ระบุว่า การลงมติเลือกนายกฯ ไม่ได้มีแค่มิติของกระบวนการทางกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือกระบวนการประชาธิปไตย เพราะในการเมืองในระบบรัฐสภา สส. คือกลไกสำคัญ ในการเอาเสียงของประชาชน ที่ผ่านการเลือกตั้ง มาจัดตั้งรัฐบาลที่สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนให้ได้อย่างดีที่สุด โดยเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องทำความเข้าใจอยู่สม่ำเสมอ แม้ว่าจะรวมเสียงไม่ครบในครั้งแรก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะลงมติไม่ครบในครั้งถัดไป การลงมติเลือกนายกจึงควรเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ที่ให้สภาผู้แทนราษฎรได้เลือก ได้ลอง ได้พยายามหาทางในการตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง นี่ไม่ใช่พื้นที่ของการสรรหาโวหารใดใดเพื่อทำลายเสียงของประชาชนตัดสินคนที่เป็นความหวังของประชาชนพื้นที่แห่งนี้ ควรจะเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่จะออกจากการเมืองที่เกิดขึ้นย่อมอยู่กับที่ผ่านการรัฐประหารตั้งแต่ปี 57

“ขอย้ำเตือนทุกท่านในที่นี้เวลาที่คิดถึงการตีความข้อบังคับ อย่าคิดว่าเป็นการแก้ปัญหาของตัวเองในกรณีแคนดิเดตของนายพิธา แต่ให้มองภาพกว้าง คิดถึงกรณีอื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการตีความข้อบังคับนี้ด้วย ขอให้คิดถึงเผื่ออนาคตข้างหน้า ในวันที่บทเฉพาะกาลมาตรา 272 หมดลงแล้ว ซึ่งใช้เนื้อหาข้อบังคับที่ 41 เหมือนกัน พึงระลึกบรรทัดฐานที่แปลกพวกนี้ จะกลับมาสร้างความลำบากให้แคนดิเดตนายกฯ ของพวกท่านเอง และสร้างความยุ่งยาก และเสียหายให้กับท่านเอง พวกท่านหวาดกลัวยุคสมัยใหม่ขนาดนั้นเลยเหรอ”

Related Posts

Send this to a friend