FEATURE

ครูไทยยุคใหม่เข้าใจเด็ก ตามทันโลก-ใช้โซเชียลเชิงสร้างสรรค์ ลดปัญหาในเยาวชนได้

ครูเล่นโซเชียลกับเด็กลดช่องว่างระหว่างวัย ช่วยเปิดโอกาสให้เด็กเข้าใกล้ครู เลียนแบบเป็นไอดอล ช่วยปรับพฤติกรรมในเชิงบวก

ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินกำลัง โดยเฉพาะการเป็นครูในดวงใจ ของเด็กยุคโซเชียล ที่ทุกอย่างอยู่บนมือถือเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก นั่นจึงทำให้ครูยุคใหม่ ต่างหาสารพัดวิธีเพื่อเข้าถึงเด็กให้ได้มากที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อกระชับ ความผูกพันระหว่างครูกับศิษย์ นัยว่าให้คุยกับเด็กรู้เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอน การทำกิจกรรมในชั่วโมงฟรีสไตล์ ที่เด็กๆสนุกสนานคุณครูชอบใจ อย่างการที่คุณครูชวนเด็กเต้นประกอบเพลง และอัพลงโซเชียล กระทั่งมีหลายเสียงออกมาติง ถึงความไม่เหมาะสม แต่อีกหลายคนก็ชื่นชอบกดไลท์กดแชร์ ถึงขั้นอยากกลับไปเรียนกับครูท่านดังกล่าวอีกครั้ง งานนี้คุณครูจึงได้ออกมาชี้แจงว่า กิจกรรมดังกล่าวนั้น ถือเป็นการกระตุ้นให้เด็กกล้าแสดงออก และยังเป็นการหาตัวเองให้เจอในสิ่งที่ชอบ

The Reporters ได้พูดคุยกับคุณครูที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก เกี่ยวกับประเด็น ภาพรวมของคุณครูยุคใหม่นั้นเป็นอย่างไร และจะต้องปรับตัวแบบไหน เพื่อให้เข้ากับเด็กยุคใหม่ไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะเด็กยุคโซเชียล ที่ชีวิตผูกติดกับมือถือและโลกออนไลน์ ที่สำคัญข้อมูลทุกถูกแชร์อย่างรวดเร็ว แต่ทว่าก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย หากว่าครูอาจารย์หยิบยกโซเชียล มาสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการขยับเข้าใกล้เด็ก เพื่อให้น้องๆหนูๆ กล้าเปิดใจที่จะบอกเล่าพูดคุยถึงปัญหาที่พวกเขาได้รับ เพื่อนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างบ้านและโรงเรียน

ผอ.แบ๋ม-กตัญชลี ชินสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโครงการโรงเรียนไทยสู่ความเป็นเลิศ ให้ข้อมูลว่า “ ถ้าพูดถึงภาพรวมของครูในยุคปัจจุบัน หรือประมาณ 2-3 ปี ที่มีเรื่องของโรคโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้องนั้น โดยส่วนตัวมองว่า ครูไทยค่อนข้างมีการปรับตัว เกี่ยวกับการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ได้ค่อนดี ทั้งเรื่องของการใช้โซเชียล การใช้คอมพิวเตอร์ รวมถึงการเรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับการสอนผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ครูรุ่นใหม่ที่มีความรู้อยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องปรับตัวมาก แต่ครูรุ่นเก่าหลายท่านก็ปรับตัวใช้สื่อออนไลน์ ในการเรียนการสอนได้มากขึ้น เพราะทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์และยุคสมัย ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านมาได้ด้วยดี กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์อยู่อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญโลกโซเชียลก็ได้มีบทบาท ต่อตัวเด็กนักเรียนเช่นกัน เพราะเด็กยุคใหม่จะมีความรู้เกี่ยวกับออนไลน์ หรือใช้โซเชียลคล่องกับผู้ปกครองด้วยซ้ำ

“ดังนั้นเมื่อเด็กยุคใหม่สามารถเข้าถึงโซเชียลได้โดยง่าย สิ่งที่ครูต้องไม่ทิ้ง คือการปลูกฝังเกี่ยวกับความรู้ ความยั้งคิด หรือความเหมาะสมในเรื่องต่างๆให้กับเด็ก ยกตัวอย่างคุณครูที่ชวนเด็กเต้นและอัพลงโซเชียลนั้น โดยส่วนตัวจะไม่ตัดสินการกระทำดังกล่าว เพราะผอ.แบ๋มมองว่า ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาค่ะ ดังนั้นถ้าคุณครูคนดังกล่าวออกมาระบุว่า สิ่งที่ทำนั้นเป็นไปในเชิงประโยชน์ เช่น การฝึกความกล้าแสดงออก กระทั่งทำให้เด็กๆค้นหาตัวเองว่าชอบอะไร ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนค่ะ เพราะคุณครูนั้นมองในมุมดี แต่ทั้งนี้การใช้โซเชียลนั้น เราต้องระมัดระวังให้มาก เพราะจะมีการแชร์ไปอย่างรวดเร็วและทั่วโลก เพราะคนมักจะมองแต่ประโยชน์ แต่ในอีกแง่ก็มีโทษในเชิงของการถูกวิพากวิจารณ์ได้ง่าย แต่ทุกอย่างอยู่ที่เจตนาค่ะ จึงขอให้ดูที่เจตนาคุณครูเป็นหลักค่ะ”

ที่สำคัญการเรียนการสอนผ่านโซเชียล ของครูในยุคปัจจุบันนั้น นอกจากการให้ความรู้ คือการแฝงหรือสอดแทรกเรื่องคุณธรรม ตลอดจนการประพฤติตัวที่ดีไว้ด้วยค่ะ ที่สำคัญครูยุคใหม่ต้องเปิดใจ ทั้งเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการสอน และต้องเปิดใจรับฟังความคิดเด็ก และต้องปลูกฝังเรื่องความมีเหตุผลและการแสดงออก ในสิ่งต่างๆอย่างเหมาะสมไม่ก้าวร้าว ที่สำคัญเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ค่ะ นอกจากนี้ครูจะต้องมีจิตวิทยา ที่จะเข้าถึงเด็กให้ได้ เพื่อคอยซัพพอร์ต และให้กำลังใจเด็ก เวลาที่เด็กมีปัญหา เพราะเด็กยุคใหม่มักจะประสบกับความเครียด โรคซึมเศร้า ดังนั้นคุณครูต้องคอยสอดส่องเด็ก และคอยให้ความช่วยเหลือเด็กๆเช่นเดียวกัน เพื่อไม่ให้เด็กถูกทอดทิ้งเพียงลำพัง”

ด้าน อ.ปริศนา ปัญสิงห์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดดอนสุขโข ระดับชั้นอนุบาล-ป.6 ให้ข้อมูลว่า “โดยส่วนตัวมองภาพรวมของคุณครูสมัยใหม่ เช่น เคสของคุณครูที่ชวนเด็กเต้นติ๊กต๊อกว่า การที่คุณครูสามารถเข้าไปอยู่ในวัยของเด็กได้ นั่นแปลว่าคุณครูสามารถสื่อสารกับเด็กได้ ดังนั้นเวลาที่เขามีปัญหา หรือต้องการอะไร เด็กก็จะกล้าสื่อสารกับครูปัจจุบัน มากกว่าครูสมัยก่อน ที่เด็กมักจะไม่กล้าบอกหรือกล้าเล่าสิ่งต่างให้ครูฟัง ดังนั้นการที่ครูยุคใหม่ เป็นคนทันสมัยตามทันโลกโซเซียล และใช้ในเชิงสร้างสรรค์ ย่อมถือเป็นตัวเชื่อมไปสู่เด็กที่สำคัญ เพราะถือได้ว่าครูได้เข้าไปนั่งในใจเด็ก เพราะนอกจากเด็กจะกล้าคุย กล้าเล่าปัญหาให้ครูฟังแล้ว เด็กก็ไม่ไปทางเพื่อน เพราะบางครั้งการที่เด็กไปปรึกษากับเพื่อน ปัญหาของเขาก็อาจจะยังไม่ได้รับการแก้ไขที่ดี”

“เมื่อไรก็ตามที่ครูสามารถเข้าใกล้เด็กได้ เช่น กิจกรรมครูชวนเต้นติ๊กต๊อกดังกล่าว นั่นแปลว่าครูได้เข้าไปนั่งในใจเด็กแล้ว สิ่งที่ตามคือเด็กจะศรัทธาครู และมองครูเป็นไอดอล และเมื่อไรที่เด็กมองครูเป็นไอดอล เมื่อนั้นเด็กก็จะเชื่อฟังครู และครูสามารถใช้ข้อดีตรงนี้ ในการปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของเด็กให้ไปในทางบวกได้ ที่สำคัญครูยุคใหม่สามารถที่จะสร้าง คุณลักษณะที่เหมาะสม เช่น เรื่องของกิริยมารยาทที่งดงาม การมีสัมมาคาราวะต่อผู้ใหญ่ให้กับเด็กได้ เพราะเด็กยุคใหม่จะเคารพและเชื่อฟังพ่อแม่น้อยลง ดังนั้นครูสามารถใช้ข้อดีจากโซเชียล ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างครูกับเด็ก ในการสอนสิ่งที่ดีๆเหล่านี้ให้กับเด็กได้ ผ่านการที่ครูทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู เพราะเมื่อไรที่ครูอยู่ในใจเด็ก เด็กก็มักจะทำตามสิ่งดีๆที่ครูสอนค่ะ”

“ในวันครูที่จะมาถึงนี้ เด็กๆที่โรงเรียนวัดดอนสุขโข ก็จะมีการแสดงความรักและเคารพ ต่อคุณครูอย่างง่ายๆ ผ่านทางโซเชียลค่ะ โดยการที่เด็กๆมักจะเข้าไปกดไลท์ และเขียนแสดงความคิดเห็น ใต้รูปคุณครู เช่น คุณครูใจดีที่สุดเลย หรือ คุณครูคนนี้น่ารัก ก็เป็นอะไรที่เด็กสามารถแสดงออกต่อคุณครูของตัวเองค่ะ เพราะยุคนี้ก็เป็นยุคของโซเชียล ที่เราสามารถดึงประโยชน์ดีๆเอามาใช้ได้ค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend