POLITICS

‘กัณวีร์’ ประกาศนโยบาย ฟื้นฟูทรัพยากรทาง ทะเล ยุติเครื่องมือประมง ทำลายล้าง

‘กัณวีร์’ พรรคเป็นธรรม รับลูกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ประกาศนโยบายฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ยุติเครื่องมือประมงทำลายล้าง

นายกัณวีร์ สืบแสง รักษาการเลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า ได้รับฟังข้อเสนอต่อพรรคการเมืองในการฟื้นฟูทะเลไทย โดยนายบรรจง นะแส  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทย ตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลทุกชุดและพรรคการเมืองทุกพรรค ถึงลอยตัวไม่แตะเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและเรื่องประมง โดยเฉพาะการยุติเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง(destructive fishing tools)

“เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าการแก้ไขปัญหาแบบผักชีโรยหน้า ที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืน ประเทศไทยชอบถูกกดดันจากต่างชาติ ให้คิดและพยายามหาทางหลบเลี่ยงกฏเกณฑ์สากลที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกผลผลิตทางทะเลไปสู่ตลาดสากลได้ แต่คนได้ประโยชน์ก็จะเป็นกลุ่มคนเดิมที่เป็นนายทุนหลักพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล”

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า จากการติดตาม กลุ่มประมงพื้นบ้าน “สมาคมรักษ์ทะเลไทย” ตั้งแต่การบุกเข้ารัฐสภาเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการตัดตอนวัฏจักรการเติบโตของสัตว์ทะเลวัยอ่อน แบบใครคว้าได้คว้าไป โดยมีกลุ่มนายทุนพรรคการเมืองหนุนหลัง ทำให้การล้างผลาญวัฏจักรสัตว์ทะเลของระบบนิเวศยิ่งถูกทำให้พินาศขาดตอนลงอย่างสิ้นเชิง ทำให้เห็นถึงทั้งความไม่สนใจต่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และการอุ้มชูกลุ่มนายทุนผู้ได้ผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อต่อการทำลายล้างทรัพยากรแห่งชาติทางทะเล และวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนที่อยู่กับทะเล

นอกจากนี้ปลาและสัตว์ทะเลวัยอ่อนประมาณ 1.5 – 2.1 ล้านตันได้ถูกทำลายและนำไปทำปลาป่นทั้งส่งออกและใช้ภายในประเทศต่อปี หากเราคิดว่า กุ้ง หอย ปู ปลาทั้งหลายที่กำลังเติบโตและสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับทุกคนต้องถูกตัดตอนจากการใช้อวนลากอวนรุนที่ทั้งทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชีวิตของสัตว์ทะเลวัยอ่อน รวมถึง การที่ยังใช้เรือปั่นไฟจับปลากะตักกันอย่างคึกคะนองโดยไม่ห่วงสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ถูกจับมาพร้อมๆ กัน

“ทะเลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีใครต้องไปใส่ปุ๋ยพรวนดินนะครับ ทรัพยากรทางทะเลกำเนิดเกิดขึ้นได้ เรามีหน้าที่ควรรักษา โดยใช้การบริหารจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม คำนึงถึงความสมดุลทั้งทางธรรมชาติและเชิงพาณิชย์ให้ได้ครับ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ต้องใช้หลักวิชาการและวิทยาศาสตร์มาเป็นสารตั้งต้น มิใช่ใช้ความต้องการ (demands) ทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเร่งกระตุ้นกระเป๋าของคนกลุ่มน้อยที่เป็นนายทุนให้พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลเป็นหลัก”

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งรอบประเทศทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน จำเป็นต้องใช้วิถีการสร้างอาชีพแบบประมงพื้นบ้านดำรงชีวิต และมีสัดส่วนถึง85% ของผู้ประกอบอาชีพประมง เมื่อเปรียบเทียบกับประมงพาณิชย์ 15%

“รัฐต้องมีมาตรการที่อิงแก่ผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก และรัฐบาลต้องเป็นตัวกลางที่โปร่งใสในการจัดทำนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทะเลลองคิดดูครับสัตว์ทะเลวัยอ่อน 1.5 – 2.1 ล้านตันต่อปีหากโตต่อไป จะสร้างรายได้เข้าประเทศเท่าไหร่ และรวมถึงจะช่วยรักษาระบบนิเวศให้มีความเสถียรอีกเท่าไหร่ที่เราไม่สามารถตีค่าออกมาเป็นตัวเงินใดๆ ได้เลยครับ”

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า พรรคเป็นธรรมจึงมีความชัดเจนเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้อง คือ 

1. ยุติเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง (destructive fishing tools) ทุกประเภท

2. แบ่งโซนการทำประมงพาณิชย์ให้ชัดว่าต้องออกไปให้ไกลอย่างน้อย 12 ไมล์ทะเล

3. การขยายตาอวนให้สัตว์ทะเลวัยอ่อนไม่ถูกจับและเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศ

4. การประกาศการยกเลิกการใช้เรือปั่นไฟอย่างถาวร

“หากนโยบายนี้ของพรรคเป็นธรรม สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เราจะไม่ต้องกินปลาทูที่มาจากประเทศโอมาน และกุ้งจากบังคลาเทศ แล้วต้องแปลกใจที่ว่ารสชาติมันไม่คุ้นลิ้น และราคามันสูงลิ่ว รีบกลับมาหันดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลโดยเร็วเถอะครับ” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ

Related Posts

Send this to a friend