FEATURE

เสริมสร้างทักษะนอกห้องเรียน หนุนเรียนรู้วิถีบนดอย

นักศึกษา 16 คนตั้งใจฟังคำบอกเล่าของพ่อหลวงเกรียงไกร เมธาณิชากรกุล เกี่ยวกับที่มาที่ไปของ “พนาคอฟฟี่” แบรนกาแฟของชาวบ้านพนาสวรรค์ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

บางคนจดบันทึก บางคนตั้งคำถามหลากหลาย

“ชาวบ้านเริ่มปลูกกาแฟตั้งแต่ปี 2528 โดยการแนะนำของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เขาเอาดินไปตรวจสอบและพบว่าผืนดินแถวนี้เหมาะแก่การปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิกา ตั้งแต่นั้นมาเราจึงปลูกกาแฟแต่เน้นที่คุณภาพ ไม่เน้นปริมาณและได้รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ตอนนี้มีสมาชิกอยู่ 64 ราย นอกจากขายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย” พ่อหลวงเล่าถึงที่มาของการพัฒนาหมู่บ้านโดยมีกาแฟเป็นพืชเศษฐกกิจด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจพร้อมทั้งอธิบายกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นปลูก การคัดเมล็ดอย่างประณีต ตลอดจนเทคนิคการคั่วและบรรจุภัณฑ์

หมู่บ้านพนาสวรรค์ มีชาวบ้านกว่า 130 ครอบครัว ชาวบ้านมีทั้งชาวลาหู่ จีนฮ่อและอาข่า เดิมทีชาวบ้านปลูกพืชตามวิถีดั้งเดิมของบรรบุรุษซึ่งมีรายได้แค่พออยู่พอกิน แต่เมื่อหันมาปลูกกาแฟและรวมกลุ่มกันโดยมีนักวิชาการเป็นพี่เลี้ยง ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นตามลำดับ

กสศ.ได้ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะชีวิต โดยเยาวชนทั้งหมด 64 คน ของวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก จ.เชียงราย ได้เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็ก สตรีและชนเผ่าของ พชภ. บนดอยแม่สลอง ระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2563

มูลนิธิ พชภ. ได้จัดฐานการเรียนรู้ให้นักศึกษาแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วยการเดินป่า ซึ่งเป็นป่าที่พลิกฟื้นจากเขาหัวโล้นเมื่อ 30 ปีก่อนโดยชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆ ดอยและพชภ.ได้ร่วมกันฟื้นฟูขึ้น ปัจจุบันได้กลายเป็นผื่นป่าใหญ่ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งบนดอยแม่สลอง ซึ่งนักศึกษากลุ่ม 1 ได้ลงพื้นที่เรียนรู้ป่าของบ้านจะบูสี ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ และนักศึกษาอีกกลุ่ม 1 เดินป่าผืนเดียวกันแต่มุ่งไปที่บ้านป่าคาสุขใจ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า

นักศึกษากลุ่มที่ 3 เรียนรู้ภูมิปัญญญางานปักผ้าชาวอาข่าบ้านป่าคาสุขใจ และกลุ่มสุดท้ายเรียนรู้เรื่องกาแฟของหมู่บ้านพนาสวรรค์

หลังจากที่ทั้ง 4 กลุ่มได้ลงพื้นที่และเรียนรู้วิถีของชุมชนแล้ว ได้นำข้อสรุปต่างๆ มาถ่ายทอดพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนๆ กลุ่มอื่น

น.ส.อมรรัตน์ นุ่มเกลี้ยง บ้านอยู่จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่าหลังจากเรียนจบ ม.3 แล้วไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อเพราะที่บ้านมีฐานะยากจน แม่ซึ่งเป็นชาวกัมพูชา ทำงานรับจ้างอยู่ที่ จ.ชลบุรี ส่วนพ่อเป็นคนไทย แต่ไม่ได้ทำงาน ในช่วงเรียนมัธยมต้น เธอต้องรับจ้างทำนาเพื่อหารายได้เรียน

“ถ้าไม่ได้รับทุน กสศ. หนูคงไม่ได้เรียนต่อเพราะแม่มีรายได้ไม่เยอะ หนูเรียนด้านการท่องเที่ยวเพราะอยากเดินทางไปไกลๆ อยากพูดได้หลายภาษา” นักศึกษาวัย 15 ปี บอกถึงความมุ่งมั่น เธอไม่เคยขึ้นดอยแม่สลองมาก่อน เมื่อได้เห็นและเรียนรู้ป่าชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่ บ้านจะบูสี ทำให้รู้สึกทึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันฟื้นฟูและดูแลป่า

“หนูชอบมากที่ได้มาเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบนี้ ทำให้รู้จักว่าคนบนดอยเขาอยู่กันอย่างไร มันเหมือนกับได้เห็นโลกอีกใบที่หนูไม่เคยรู้จัก ถ้าเราอยู่แต่ในห้องเรียน หนูก็ได้แค่จดบันทึกและก็ไม่ค่อยได้กลับมาอ่านอีก แต่การลงพื้นที่แบบนี้ได้ประสบการณ์ เราได้เห็นภาพ ได้ยินเสียง มันอยู่ในความทรงจำของเราตลอด”

ขณะที่ น.ส.ญาณี อาจ่อ หรือที่เพื่อนๆ เรียกว่า ณี สาวน้อยจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์ บอกว่าทุกวันนี้เธอยังไม่มีบัตรประชาชน มีเพียงบัตรเลขศูนย์ หากไม่ได้รับทุน กสศ.ก็คงไม่ได้เรียนต่อ เพราะแม่เป็นคนหารายได้เลี้ยงครอบครัวคนเดียว พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเด็ก แม่จึงต้องทำงานหนักเลี้ยงลูกถึง 6 คน

“แม้หนูเป็นคนอาข่า แต่อยู่บนพื้นราบ  หนูไม่เคยรู้มาก่อนว่าคนบนดอยเขาอยู่กันอย่างไร พอได้ลงหมู่บ้านคนอาข่าเหมือนกัน ทำให้เรียนรู้ความเหมือนและความต่างของชุมชนอาข่าบนดอยและอาข่าพื้นราบ”

ณี บอกว่าสาเหตุที่ตั้งใจเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพราะมีความฝันอยากผลิตกล้องถ่ายภาพขึ้นใช้เอง เนื่องจากชอบการถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก จึงอยากผลิตกล้องที่ดีที่สุดของตัวเอง

ส่วนนายโยธิน จะแล หรือดอน หนุ่มเชื้อสายลาหู่ จากบ้านห้วยชมภู อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเรียนอยู่ ปวช.ปี 1 ด้านช่างยนต์ บอกว่าตอนแรกเขาหมดหวังที่จะได้เรียนต่อเช่นกัน เพราะฐานะทางบ้านยากจน พ่อแม่ทำนา และหมู่บ้านก็อยู่ห่างไกลมาก เขาเคยตัดสินใจที่จะไปทำงานในเมืองเชียงใหม่ แต่ตายายของร้องไว้ และโชคดีที่มีทุนของ กสศ.มาถึงโรงเรียนทำให้เขามีโอกาสได้เรียนต่อ

“หากเรียนจบ 5 ปีแล้ว ผมอยากกลับไปเปิดร้านซ่อมรถในหมู่บ้าน เพราะทุกวันนี้ เมื่อรถไถนา รถมอเตอร์ไซต์เสีย เราต้องเอาไปซ่อมอีกหมู่บ้านหนึ่งซึ่งอยู่ไกล ถ้ามีร้านซ่อมรถในหมู่บ้านของเราเองก็จะช่วยทุ่นเวลาได้เยอะ”

หนุ่มดอนบอกว่า กิจกรรมที่ได้มาเดินป่านั้น ไม่แตกต่างจากการเดินป่าแถวบ้านสักเท่าไหร่ แต่ที่ไม่เหมือนกันคือชาวบ้านที่นี่สามารถปลูกและอนุรักษ์ป่าได้เป็นอย่างดี ทำให้อยากกลับไปทำในลักษณะนี้ที่บ้านบ้าง

ขณะที่น.ส.ฐิติวรดา มหาลือ อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคการญจนาภิเษก ซึ่งดูแลนักเรียนทุน กสศ. กล่าวสนับสนุนการจัดกิจกรรมนอกห้องเรียน โดยเธอเห็นว่าส่งผลบวกต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษามากกว่าการเรียนในห้อง 4 เหลี่ยม

“วิทยาลัยของเรามีเยาวชนจากจังหวัดต่างๆ มาเรียน พวกเขาต่างมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน เมื่อเขาได้ขึ้นมาบนดอยแม่สลอง ได้มาเห็นสายหมอก สายฝนและวิถีชีวิตชุมชนซึ่งพวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้ได้เรียนรู้ เมื่อสงสัยเขาก็ตั้งคำถามและหาคำตอบ เขาได้ค้นคว้าและคิดสะท้อนกับชีวิตตัวเอง”

 

ระบบการศึกษาในสังคมไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลงทิศผิดทางมาโดยตลอดเพราะมุ่งเน้นผลิตทรัพยากรบุคคลให้ไปเป็นลูกจ้างและผลักดันให้อยู่ในสังคมเมือง จนทำให้ชนบทถูกทอดทิ้ง เมื่อเกิดวิกฤตครั้งใด เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือแม้กระทั่งวิกฤตโควิด 19 ทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถยืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้

การเรียนรู้นอกห้องเรียนและพัฒนาทักษะให้เข้ากับสภาพทุนทางทางสังคมของแต่ละท้องที่ จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยมีโอกาสรอดพ้นจากวิกฤตการณ์อีกหลายระลอกในอนาคต

Related Posts

Send this to a friend