FEATURE

“เสร็จนาฆ่าโคถึก” โศกนาฏกรรมของลูกจ้างสูงวัย

กว่า 40 ปีที่ชีวิตของ “ป้าริน” และ “ป้าหงวน” จมหายไปในโรงงานของบริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน จากบริษัทเล็กๆ กลายเป็นโรงงานใหญ่ สร้างความมั่งคั่งให้กับนายจ้างจนส่งลูกหลานไปเรียนต่างประเทศและกลับมาสานต่อธุรกิจ แต่ในวันที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยกำลังอยู่ในช่วงอัสดง จนมาถึงยุคโควิด-19 ในที่สุดกิจการสิ่งทอแห่งนี้ได้ถึงกาลสุดท้าย ทั้งป้ารินและป้าหงวน รวมทั้งคนงาน 180 ชีวิตต่างถูกลอยแพ

เจ้าของโรงงานขนเครื่องจักรเก่าๆ ออกไปขาย ฉันเองก็เหมือนเครื่องจักรพวกนั้น สมัยก่อนใครๆ ก็บอกว่าพวกเราลูกจ้างคือผู้ที่พัฒนาชาติ แต่วันนี้พวกเรากลายเป็นคนที่ชาติไม่ต้องการ” ป้ารินเปรียบเทียบสถานการณ์ที่ตัวแกกำลังเผชิญได้อย่างน่าปวดใจ

ป้ารินหรือสุรินทร์ พิมพ์พา อายุ 63 ปี บ้านเกิดอยู่ที่ จ.ราชบุรี ครอบครัวมีอาชีพทำนา จบการศึกษา ป.4 เมื่ออายุ 17 ปีได้เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน โดยได้รับค่าแรงแบบเหมารายชิ้น

“ตอนนั้นเราทำงานกันวันละ 12 ชั่วโมง เฉลี่ยแล้วได้ค่าจ้างวันละราวๆ 12 บาท ไม่มีสวัสดิการใดๆ ซึ่งจริงๆ แล้วอย่างน้อยเขาควรมีน้ำดื่มให้ หรือเมื่อทำงานเกินเวลาก็ควรมีเบี้ยขยันให้เรา” ป้ารินพูดถึงจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องความเป็นธรรม และการเข้าร่วมกับสหภาพแรงงาน

ส่วนป้าหงวนหรือสงวน ขุนทรง อายุ 68 ปี เป็นชาวนครปฐม ครอบครัวมีอาชีพทำนาแต่ถูกรัฐเวนคืนจึงเข้ามาเป็นลูกจ้างในโรงงานโดยครั้งแรกทำงานที่บริษัทไทยนามพลาสติกอยู่ 1 ปีแล้วลาออกมาอยู่ที่นครหลวงถุงเท้าไนล่อนในตำแหน่งพนักงานเย็บผ้าตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน

ปี 2524 ลูกจ้างนครหลวงถุงเท้าไนล่อนได้นัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างจัดสวัสดิการ ซึ่งทั้งป้ารินและป้าหงวนต่างเข้าร่วม แต่ครั้งนั้นไม่ประสบผลเท่าที่ควรเนื่องจากทั้งหมดยังไม่รู้ขั้นตอนตามกฎหมายแรงงานที่ต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องล่วงหน้า แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ซึ่งหลังจากนั้นได้มีคนในขบวนการแรงงานจากที่อื่นพาไปเพิ่มเติมความรู้ จนกระทั่งเริ่มมีการก่อตั้งสหภาพแรงงานนครหลวงถุงเท้าไนล่อน โดยป้าหงวนเป็น 1 ในคณะกรรมการชุดแรก

“ตอนแรกๆ ลูกจ้างไม่รู้จักหรอก ว่าสหภาพแรงงานเป็นอย่างไร เขามักถามว่าเป็นสมาชิกสหภาพแล้วได้อะไร พวกเราก็ต้องช่วยกันอธิบายว่าหากไม่รวมตัวกันเราก็แพ้ทุกครั้งที่ถูกกลั่นแกล้ง ทุกคนจำเป็นต้องเสียค่าสมาชิก เพื่อใช้จ่ายสำหรับภารกิจส่วนรวม”  ป้ารินฉายอดีตในยุคก่อตั้งสหภาพแรงงาน โดยแกได้เป็นกรรมการสหภาพในชุดที่ 2 

“ยุคนั้นลูกจ้างตื่นตัวมากเรื่องสหภาพแรงงาน บางช่วงมีคนงานกว่า 600 คนเข้ามาเป็นสมาชิก จากจำนวนคนงานทั้งโรงงาน 800 คน”

ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมของขบวนการแรงงานสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ที่ป้ารินและป้าหงวนทำงานอยู่ มีพลังอย่างมากเนื่องจากมีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งของสหภาพแรงงานจากโรงงานต่างๆ เช่นเดียวกับพลังกรรมกร ทั้งสถานประกอบการเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รวมตัวกันเป็นเอกภาพและเติบใหญ่จนกลายเป็นส่วนสำคัญร่วมกับพลังนักศึกษาในการคานอำนาจผู้นำประเทศที่มักเป็นเผด็จการ รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในบ้านเมือง

“ตอนปี 2519 นักศึกษาเขามาตามให้ไปสนามหลวง ตอนแรกๆป้าก็ยังไม่รู้ว่าไปทำไม แต่พวกเราก็ไป ไปฟังเขาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราได้รับรู้ข้อมูลใหม่ๆ”  การเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคม ทำให้ป้ารินและเพื่อนได้มีมุมมองกว้างไกลขึ้น เช่นเดียวกับการเข้าร่วมวันแรงงานแห่งชาติซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าวันกรรมกร ที่มีข้อเรียกร้องในการสร้างความเป็นธรรมให้กับลูกจ้าง

“พวกเราก็เคลื่อนไหวเรื่องการปรับค่าจ้างขึ้นต่ำมาตลอด เพราะเรารู้ถ้าไม่เรียกร้องก็มักไม่ได้ปรับ”

ป้ารินรับรู้สถานการณ์จริงของโครงสร้างอำนาจในสังคมไทยที่นายจ้างซึ่งเป็นคนส่วนน้อยมักเสียงดังกว่าลูกจ้างที่เป็นคนส่วนใหญ่

“ป้าทำงานมา 40 กว่าปี ตอนนี้ก็ยังกินค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 331 บาทอยู่เลย” ความจริงที่น่าเจ็บปวดของลูกจ้างไทยที่ทักษะฝีมือและความชำนาญ ไม่ได้รับการยกระดับด้านรายได้ สะท้อนความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของระบบค่าจ้างแรงงาน

กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดกฎหมายประกันสังคม โดยวิไลวรรณ แซ่เตีย หรือป้าวิ ผู้นำสหภาพแรงงานนครหลวงสิ่งทอฯได้เป็นตัวแทนร่วมอดข้าวเรียกร้องที่หน้ารัฐสภาเมื่อปี 2533 ซึ่งทั้งป้ารินและป้าหงวนต่างก็เป็นกำลังสำคัญของเครือข่ายลูกจ้างที่สลับสับเปลี่ยนค้างคืนหนุนเนื่องเพื่อกดดันรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

ในที่สุดสังคมไทยจึงได้ พระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 ที่มีเป้าหมายดูแลผู้ใช้แรงงานตั้งแต่เกิดจนตาย ซึ่งทั้งป้าริน ป้าหงวนและป้าวิ ต่างเป็นลูกค้าชั้นดีที่เริ่มจ่ายเงินสมทบตั้งแต่สำนักงานประกันสังคมก่อตั้งขึ้น จากเงินกองทุนหลักพันล้าน จนล่าสุดกลายเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศมีเงินกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยมีเบี้ยประกันของลูกจ้างเป็นหุ้นส่วนใหญ่ แต่ที่ชวนพิลึกพิลั่นก็คือระบบข้าราชการเข้าไปยึดครองและเห็นผู้ประกันตนเป็นเพียง “ผู้ขอ”ความช่วยเหลือ งบประมาณจากหยาดเหงื่อแรงงานของป้าๆ และเหล่าลูกจ้างถูก ถูกนำมาใช้อำนวยความสะดวกให้ข้าราชการซื้อรถหรูๆ ประจำตำแหน่ง จ้างบริษัทคอนเซ้าท์ฯ ให้ทำงานแทนจนเกิดการโกงกินมากมาย สุดท้ายจึงเกิดคำถามว่าใครคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง ?

“เราภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับพี่น้องแรงงาน” ป้าหงวนพูดถึงบทบาทของผู้นำแรงงาน แม้แกและป้าๆแห่งสหภาพแรงงานนครหลวงฯจะเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กๆ ที่ทำงานมายาวนาน แต่ฟันเฟืองเหล่านี้ช่วยทำให้กลไกใหญ่สามารถทำงานลุล่วงมาได้ถึงทุกวันนี้

ชีวิตตั้งแต่เป็นสาวน้อยจนล่วงเลยมาถึงวัยเกษียณอายุ ทั้งป้ารินและป้าหงวนก็ยังคงเป็นลูกจ้างอยู่ในโรงงาน ขณะที่ป้าวิได้กลับไปอยู่กับครอบครัวในต่างจังหวัด

กว่า 2 เดือนมาแล้วที่บริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อนจ่ายค่าจ้างไม่ตรงเวลา ทำให้ลูกจ้างเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ที่จริงสถานการณ์ของบริษัทแห่งนี้ส่อเค้ามีปัญหามาแล้วก่อนหน้านี้ แต่การเผชิญหน้าระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่มีป้ารินเป็นประธานสหภาพรุนแรงมาถึงขั้นแตกหักในวันนี้

“ปัญหาหนักขึ้นเรื่อยๆ เงินสะสมของลูกจ้างที่นายจ้างร่วมสมทบ เขาก็ไม่ปฎิบัติตามข้อตกลง เราจึงขอเงินคืนเขาก็ให้ไปฟ้องเอา เงินชดเชยค่าเกษียณอายุ บ้างก็จ่ายไม่ครบ บ้างก็ไม่จ่าย พอเกิดสถานการณ์โควิด เขาเลยถือโอกาสไม่จ่ายค่าจ้าง แถมลูกจ้างบางส่วนที่ถูกหักเงินประกันสังคมไปแล้วโดยเฉพาะลูกจ้างแรงงานข้ามชาติ เขาก็ไม่เอาไปจ่ายให้ประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างต้องเสียสิทธิการรักษาพยาบาล” เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้งป้าริน-ป้าหงวนและเหล่าลูกจ้างของบริษัทนครหลวงฯจึงพากันไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากกระทรวงแรงงาน ซึ่งในที่สุดนายจ้างยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายให้

“มันก็น่าเสียใจ พวกเราช่วยสร้างความร่ำรวยให้เขาจนสามารถขยายโรงงานใหญ่โต แต่วันนี้เหมือนพวกเรากำลังถูกทอดทิ้ง” ป้าหงวนสะท้อนความรู้สึกในวัยที่เรี่ยวแรงอ่อนล้า

ขณะที่ป้ารินบอกว่า “ถามว่าคุ้มมั้ยที่เอาชีวิตฝากไว้กับที่นี่ ถ้าพูดเป็นตัวเงินมันไม่คุ้มหรอก เพราะทุกวันนี้ป้ายังได้ค่าจ้างเท่ากับลูกจ้างที่เข้าใหม่อยู่เลย แต่ที่เราดีใจคือได้ทำงานข้างนอก ได้ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมและสิทธิต่างๆ ให้กับพี่น้องแรงงาน ป้าเป็นฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์มาตั้งแต่ต้น ได้ฟังปัญหาของพวกเขาและช่วยแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่ความเป็นธรรมในโรงงานของพวกเราเองก็แทบไม่มี”

 

ในวันที่สังคมไทยกำลังพูดถึง “new normal” ซึ่งเป็นผลจากความกลัวไวรัสโคโรน่า และนายจ้างได้รุดหน้า “ความปกติใหม่” ไปแล้วโดยการโยนภาระเลิกจ้างให้กับสำนักงานประกันสังคม แต่สำหรับป้าริน ป้าหงวนและลูกจ้างอีกจำนวนมากยังต้องใช้ “ความปกติเก่า” เดินทางไปเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้กับชีวิตตัวเองและลูกจ้างต่อไป

Related Posts

Send this to a friend