FEATURE

ความสำคัญของอาชญาวิทยากับการบำบัดผู้ต้องขังในเรือนจำ

เรือนจำถือว่าเป็นส่วนสำคัญของสังคมที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน คนที่ติดคุกและกลับออกคืนสู่สังคม คนเหล่านี้มักไม่ได้โอกาสที่สองในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ถูกตราหน้าว่า ‘ขี้คุก’ แต่สังคมเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องไปอยู่ในคุก แล้วสังคมควรใส่ใจในการบำบัดผู้คนเหล่านี้เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขามีอนาคตที่ปกติสุขในสังคม

The Reporters ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) มาร่วมอธิบายและให้ความรู้เกี่ยวกับเรือนจำไทยและการบำบัดนักโทษไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ พร้อมทั้งเป็นกระบอกเสียงในการอธิบายสังคมว่าผู้ต้องขังเหล่านี้เพียงแต่ขาดโอกาสในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ เมื่อได้รับการบำบัดที่ดีจากเรือนจำแล้วสังคมก็ควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เช่นกัน

การบำบัดนักโทษที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

ดร.นัทธี กล่าวว่ามีการนำอาชญาวิทยาเข้ามาบำบัดนักโทษมาโดยตลอด ในอดีตเน้นเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิดให้หลาบจำ ลงโทษด้วยความรุนแรง แต่ภายหลังแนวคิดอาชญาวิทยาแบบใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลต่องานราชทัณฑ์ไทย คือการหันมาเน้นเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมต่อตัวผู้ต้องขังมากขึ้น กล่าวคือ มีโปรแกรมในการอบรมที่หลากหลายและสอดคล้องกับการกระทำผิดในแต่ละประเภท  เช่น ผู้กระทำความผิดทางเพศ ก็จะมีโปรแกรมเกี่ยวกับการบำบัดทางเพศ ผู้กระทำความผิดในการฆ่าคนตายก็จะมีการบำบัดเกี่ยวกับการฆ่าคนตาย เนื่องจากผู้กระทำความผิดในแต่ละประเภทจะมีสาเหตุ ปัจจัยที่แตกต่างกัน และประเทศไทยได้มีการจำแนกประเภทแบบสากลแล้วมีความก้าวหน้าเดินตาม ข้อกำหนดกรุงเทพ (Bangkok rules)

ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์

แต่การบำบัดผู้ต้องขังในเรือนจำจะมีความก้าวหน้าและเป็นสากลมากขึ้นแต่การปฏิบัติตามแนวทางของอาชญาวิทยาก็ไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดย ดร.นัทธี กล่าวว่า “เรือนจำไทยยึดถือแนวคิดอาชญาวิทยาและปฏิบัติในแนวนี้มาตลอด แต่ว่าไม่สามารถทำได้เต็มร้อย สามารถทำได้เพียงบางส่วนเนื่องจากติดปัญหาเรื่องความแออัดยัดเยียดในเรือนจำหรือนักโทษล้นคุกเลยทำให้การปฏิบัติไม่สามารถทำได้ตามทฤษฎีอย่างแท้จริง

ปัญหานักโทษล้นคุกส่งผลต่อการบำบัดตามแนวอาชญาวิทยา

เรือนจำไทยได้ดำเนินตามมาตรฐานการบำบัดแบบสากลมาโดยตลอดแต่ไม่สามารถจัดการหรือดูแลได้อย่างเต็มที่เนื่องจากมีปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’ กล่าวคือมีนักโทษเป็นจำนวนมากแต่ผู้คุมมีจำนวนน้อยจนเป็นเหตุทำให้การจำแนกหรือแบ่งแยกประเภทเพื่อบำบัดนักโทษตามโปรแกรมต่างๆ ทำไม่ได้อย่างทั่วถึง

ผู้ต้องขังเยอะเกินไป สัดส่วนผู้คุมกับนักโทษไม่เท่ากันทำให้การดูแลและอบรมทำได้ยากขึ้น เป็นอุปสรรคอย่างมาก เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้ผู้ต้องขังลดจำนวนลงเพื่อที่จะทำให้การอบรมแก้ไขสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แฟ้มภาพ: เรือนจำกลางนครสวรรค์

ผู้กระทำผิดซ้ำซาก

การจะทำให้ผู้ต้องขังลดลงนั้นสังคมก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมเข้าใจปัญหาไปพร้อมกันเนื่องจากผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดนั้นเมื่อได้รับการอบรมและปล่อยตัวแล้วก็จะต้องกลับไปทำงานเพื่อดำรงชีพเฉกเช่นคนปกติทั่วไป แต่การจะกลับไปทำงานนั้นเป็นเรื่องที่พวกเขาต้องต่อสู้กับสังคมนอกจากจะถูกตราหน้าแล้วสังคมก็ไม่เปิดโอกาสในการทำงานหรือหาเงิน ท้ายที่สุดก็ต้องหันมาพึ่งหนทางเดิมๆ ทำให้พวกเขากลับไปอยู่ในคุกและพบเห็นการกลับมากระทำผิดซ้ำของนักโทษคดีลักขโมย และเสพยาอยู่บ่อยครั้ง

ดร. นัทธี อธิบายประเด็นผู้กระทำผิดซ้ำว่า กลุ่มผู้กระทำผิดโดยพลั้งพลาดเมื่อถูกอบรมแล้วสามารถปรับตัวกลับคืนสู่สังคมได้และไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีกพร้อมทั้งมีปัจจัยด้านครอบครัว มีงาน คอยรองรับแต่ผู้ต้องขังอีกประเภทคือกลุ่มที่กระทำผิดซ้ำซากกลุ่มเหล่านี้ยากต่อการแก้ไขก็จะกลับมากระทำผิดซ้ำอีกและปัจจัยสำคัญในการกลับมากระทำผิดซ้ำของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้กระทำผิดฐานเสพยาเสพติดและลักขโมยมีโทษน้อยเกินไป ทำให้การอบรมสร้างอาชีพในเรือนจำให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ไม่เพียงพอ

แฟ้มภาพ: กรมราชทัณฑ์

เมื่อได้ถาม ดร.นัทธี ว่าการกลับมากระทำผิดซ้ำนั้นสามารถบ่งชี้ความผิดพลาดในการบำบัดในเรือนจำได้หรือไม่ เราได้คำตอบว่า“ถ้าพบกลุ่มที่ทำผิดโดยพลั้งพลาดแล้วกลับมากระทำผิดซ้ำก็อาจบ่งชี้ได้ว่าเรายังบำบัดหรือแก้ไขไม่ตรงจุดหรือว่ายังทำไม่เพียงพอ แต่ถ้าพบกลุ่มที่กระทำผิดซ้ำซากและกลับมาทำผิดซ้ำนั้นเป็นเรื่องธรรมดาเพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ค่อยรับการอบรมแก้ไข แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนประเภทไหนปัจจัยการกระทำผิดซ้ำไม่ได้อยู่ที่การอบรมในเรือนจำอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสังคมข้างนอกด้วย เช่นออกไปแล้วสังคมไม่ยอมรับ จะไปทำงานก็เช็คประวัติและพบว่าติดคุกก็ทำไม่ได้ จะไปค้าขายธนาคารก็ไม่ให้ทุน จะไปทำอะไรคนก็จะตราหน้าว่าขี้คุก สังคมยังไม่ยอมรับผู้พ้นโทษ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอุปสรรคต่อพวกเขาในการปรับตัว”

จากสถิติจาก Recidivism Statistics Database ฐานข้อมูลผู้ต้องขังกระทำผิดซ้ำ ภายในปี 2564 พบผู้ต้องขังกลับมากระทำความผิดซ้ำ 13,616 คน จากผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัว 177,012 คน คิดเป็น 7.69% จากปี 63 มีผู้ต้องขังกลับมากระทำความผิดซ้ำ 20,002 คน จากผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อย 157,649 คน คิดเป็น 12.68% จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้กระทำความผิดซ้ำนั้นลดน้อยลงแต่ก็ยังพบผู้กระทำความผิดซ้ำอยู่ และการบำบัดนักโทษเพื่อกลับคืนสู่สังคมกำลังส่อแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นจากอัตราตัวเลขที่ลดลงและสังคมยังคงอยากเห็นอัตราผู้ต้องขังและอัตราการกลับมากระทำผิดซ้ำนั้นลดลง

การให้โอกาส

อาจไม่มีใครมาบ่งชี้ให้เราชัดเจนว่าผู้กระทำผิดซ้ำซากนั้นทำผิดโดยสันดานหรือเพียงเพราะพวกเขายังไม่พร้อมและไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้หรือสังคมยังไม่พร้อมรับพวกเขา แต่สิ่งหนึ่งที่สังคมสามารถทำความเข้าใจร่วมกันได้ว่าสุดท้ายแล้วกลุ่มคนเหล่านี้ก็เป็นผลผลิตจากระบบของสังคม เรือนจำก็เป็นหน่วยงานทางความมั่นคงที่คอยขัดเกลาผู้ต้องขังเพื่อกลับสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องที่สังคมสามารถทำความเข้าใจร่วมกันว่าการนำภาษีส่วนหนึ่งมาบำบัดผู้ต้องขังก็เหมือน ‘การซื้อความปลอดภัยร่วมกันให้กับสังคม’

การที่เราต้องไปอบรมแก้ไขคนเหล่านี้เพราะคนเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาโดยสังคม จากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จากการที่เขาขาดโอกาส จากครอบครัวที่แตกแยก ถ้าสังคมยังทอดทิ้งเขา เขาก็จะกลับออกไปสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมต่อไป และมันก็จะเป็นความเสียหายที่ทวีคูณ เพราะฉะนั้นถ้าสังคมเจียดภาษีส่วนหนึ่งมาดูแลคนเหล่านี้เมื่อเขากลับตัวได้จะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคม สังคมก็จะปลอดภัย พูดง่าย ๆ คือเป็นการซื้อความปลอดภัย ก็ทำให้สังคมมีความก้าวหน้าไปพร้อมกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังดร.นัทธี กล่าว

แฟ้มภาพ: กรมราชทัณฑ์

ดร.นัทธี กล่าวทิ้งท้ายว่า “อยากให้สังคมมองผู้ต้องขังหรือผู้กระทำความผิดแบบแยกแยะ คือผู้ที่กระทำความผิดโดยพลั้งพลาดก็มี คนที่ทำความผิดเพราะความชั่วร้ายก็มี คนที่ทำความผิดแบบพลั้งพลาดเราทุกคนต่างมีโอกาสที่จะทำผิดได้ทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อพลาดไปก็ควรได้รับโอกาส แต่คนที่ทำผิดโดยสันดาน ก็ควรได้รับการลงโทษและควบคุมที่เข้มงวด เพราะฉะนั้นอย่าเหมารวมว่าเป็นคนมาจากคุกแล้วจะเลวเหมือนกันหมดหรือจะดีเหมือนกันหมดไม่ได้ มันต้องแยกแยะว่าเขาเป็นคนประเภทไหน

เรื่อง ญาดาภา แซ่ลิ้ม

Related Posts

Send this to a friend