FEATURE

อัลไซเมอร์ป้องกันได้ หมั่นควบคุมพฤติกรรมภายนอก เลือกทำกิจกรรมฝึกสมอง 2 คน

พบได้บ่อยสำหรับกลุ่มวัยกลางคน สำหรับ “อัลไซเมอร์” ที่บางครั้งหลายคนเรียกสับสน ระหว่างโรคความจำเสื่อม กับอัลไซเมอร์ ส่วนสาเหตุของอัลไซเมอร์นั้น เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยภายในอย่างกรรมพันธุ์ ที่มีการตรวจพบยีน  APOE4 ที่พบได้ถึง 2 ตัวในคนเดียวกัน ซึ่งเป็นยีนที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง หรือแม้แต่ปัจจัยภายนอกอย่าง การปล่อยปละละเลยโรคประจำตัว ที่ไม่ติดต่อรื้อรังอย่าง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือด ที่มีส่วนกระตุ้นอัลไซเมอร์ได้เช่นเดียวกัน

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “นพ.สุกรีย์ สมานไทย” นายกสมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ และการป้องกันไว้น่าสนใจ โดยเฉพาะการปรับพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นอัลไซเมอร์ และกิจกรรมที่สามารถป้องกันอัลไซเมอร์ ที่เน้นการเข้าสังคมหรือแม้แต่การเล่นเกมที่ต้องจับคู่กันสองคน เพื่อเพิ่มการเรียนรู้และการเจริญเติบโตของสมอง ก็ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้

นพ.สุกรีย์ ให้ข้อมูลว่า “ ก่อนที่จะพูดถึงอัลไซเมอร์นั้น หมอแนะนำให้รู้จักกับคำ 3 คำก่อน 1.ความจำเสื่อม ซึ่งถือเป็นอาการ 2.โรคสมองเสื่อม ซึ่งโรคสมองเสื่อมเกิดจากการที่สมองบกพร่อง 3.อัลไซเมอร์ ถือเป็นหนึ่งในโรคสมองเสื่อม หมายความว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้น ร้อยละ 70 % เป็นอัลไซเมอร์ โดยสรุปอัลไซเมอร์จึงเป็นหนึ่ง ในอาการของโรคสมองเสื่อมนั่นเอง และถ้าถามว่า

“อัลไซเมอร์” เกิดจากอะไร คำตอบคืออัลไซเมอร์ เป็นความเสื่อมของร่างกาย ที่เกิดจากความถดถอย จากการทำงานของสมองของเซลล์สมอง ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้มักจะเริ่มเกิดในคนวัยกลางคน และพบมากในวัยสูงอายุ ทั้งนี้ลักษณะของอัลไซเมอร์นั้น จะดำเนินตามระยะต่างๆ เช่น หากเป็น “ระยะเริ่มต้น” ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ กระทั่งช่วงอายุ 50 ปี ซึ่งเป็นช่วงของอาการป่วยอัลไซเมอร์เริ่มแสดงอาการ ทั้งนี้อัลไซเมอร์ใช้ระยะเวลาดำเนินโรคคิดเป็น 5-10 ปี ตั้งแต่ที่เริ่มป่วยกระทั่งอาการของโรคเริ่มปรากฎให้เห็น เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการความจำระยะสั้นแย่ลง หมายถึง ผู้ป่วยไม่สามารถจำได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปเมื่อเร็วๆนี้คืออะไร เช่น ก่อนหน้านี้ได้กินข้าวมันไก่ไป แต่ก็จำไม่ได้ว่าได้ทำอะไรลงไป ขณะเดียวกันผู้ป่วยสามารถจำได้ว่า ครูประจำชั้นตอนเรียนประถมศึกษาชื่ออะไร ขณะเดียวกับก็มีอาการถามซ้ำมากกว่า 2 ครั้ง ไล่มาสู่ “ระยะต่อมา” สมองส่วนหน้าของผู้ป่วยเริ่มมีปัญหา ซึ่งสมองส่วนนี้จะควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม ดังนั้นทั้งอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยจะเริ่มเปลี่ยนไป จากที่เคยเป็นคนสุขุมและรอบคอบ ก็มักจะหงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจ และมีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวกว่าเดิม ทำให้มีการตัดสินใจที่แปลกออกไป

ทั้งนี้เมื่อเป็นมากขึ้นก็จะเข้าสู่ “ระยะกลาง” ซึ่งเป็นระยะของอัลไซเมอร์ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ที่ทำให้คนรอบข้างไม่สบายใจ และส่งผลกระทบต่อการทำงานของผู้ป่วยเอง เพราะจำขั้นตอนในการทำงานไม่ได้ และมีผลกระทบต่อการทำงาน และกระทบต่อความสำคัญของคนในครอบครัว เรียกได้ว่าเป็นระยะที่กระทบ ต่อการทำงานและครอบครัวก็ว่าได้ ไล่มาถึง “ระยะก่อนสุดท้าย” ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กระทั่งไม่กินข้าว ไม่อาบน้ำ มีอาการสับสนวุ่นวาย ตื่นกลางดึก หรือเรียกร้องที่จะกลับบ้าน ทั้งที่ตัวเองอยู่บ้านตลอดเวลา เป็นต้น กระทั่งเข้าสู่ “ระยะท้ายสุด” ผู้ป่วยจะมีปัญหาไม่ยอมกลืนอาหาร ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ทำให้ทุกอย่างแย่ลง

“อย่างที่เกริ่นไปว่า อัลไซเมอร์นั้น เกิดร่วมกันจาก 2 ปัจจัยร่วมด้วย คือ 1.กรรมพันธุ์ เช่น จากยีน  APOE4 ที่เป็นตัวกระตุ้น 2.พฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ทั้งนี้หากจับคนอายุ 85 ปีมานั่งเรียงกัน จะพบว่าเป็นอัลไซเมอร์กว่าครึ่ง ดังนั้น 8 พฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้ ถือเป็นตัวกระตุ้นอัลไซเมอร์ที่ควรให้ความใส่ใจ

ปรับ 8 พฤติกรรมเสี่ยง-เลือกกิจกรรมเข้าสังคม เล่นเกมตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ป้องกันอัลไซเมอร์ได้

1.ทางการแพทย์เชื่อว่าการไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ได้ เพราะการออกกำลังกาย จะเป็นตัวเพิ่มสารที่ชื่อว่า “BDNF” (Brain-derived neurotrophic factor) ซึ่งสารนี้จทำให้เซลล์สมองแตกกิ่งก้าน ดังนั้นการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละประมาณ 30 นาที จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารดังกล่าวออกมา ในผู้ที่ออกกำลังกายทุกเพศทุกวัย ดังนั้นหากบางคนที่ชอบนอนนิ่ง หรือไม่มีกิจกรรมทางกาย ก็มีความเสี่ยงสูงในการเป็นอัลไซเมอร์ได้

2.การนอน ทางการแพทย์พบว่าการนอนรวดเดียว ประมาณ 7 ชั่วโมงต่อเนื่องตลอดทั้งคืน จะช่วยทำให้ความทรงจำมีความแนบแน่น ในช่วงที่หลับลึกหรือหลับฝัน หรือทำให้ความจำดี ดังนั้นผู้ที่นอนหลับไม่ต่อเนื่อง เช่น นอน 3 ชั่วโมง และลุกไปทำงานกระทั่งกลับมานอนต่ออีก 4 ชั่วโมง จะทำให้ความทรงจำไม่ดี ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการนอนในลักษณะดังกล่าว

3.อาหาร เราเชื่อว่าแมตาบอลิซึ่มในน้ำตาล ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับโรคเบาหวาน ที่ผู้ป่วยมีน้ำตาลในเลือดสูง หมายความว่าการกินหวานมากเกินไป มีโอกาสทำให้ดื้ออินซูลิน ดังนั้นจึงควรเลี่ยงอาหารแปรรูปที่มีน้ำตาลสูง เช่น แป้งแปรรูปที่มีน้ำตาลเป็นจำนวนมาก เช่น แป้งที่ใช้ทำขนมอบต่างๆ คุ๊กกี้ ขนมปัง เบอเกอรี่ ชิสเค้ก ไอศกรีม เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ให้กินผัก และลดแป้งและน้ำตาลลง

4.การเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในที่นี่ไม่ใช่การเรียนในสถานศึกษา แต่หมายการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆรอบตัว เพื่อป้องกันอัลไซเมอร์ เช่น การเรียนภาษา การวาดรูป ซึ่งคนอายุ 40-50 ปี สามารถเรียนวาดรูปได้ รวมถึงการเรียนใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เบื้องต้น หรือแม้แต่การเล่นโยคะ ก็สามารถป้องกันอัลไซเมอร์ได้เช่นเดียวกัน เพราะทุกเรียนรู้เท่ากับเป็นการเพิ่มเซลล์สมองให้กับคนสูงวัย ที่ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี รวมถึงการเล่นไพ่ ที่จะทำให้ตำแหน่งต่างๆของสมองถูกกระตุ้นอยู่ตลอดเวลา เช่น รูปร่างรูปทรงของไพ่ที่เล่น เช่น ไพ่ใบนี้เป็นรูปดอกจิก ข้าวหลามตัด ซึ่งช่วยฝึกความจำ, สี (ไพ่มีสีแดงสีดำสีเหลือง) รวมถึงการบวกเลข ที่ทำให้สมองได้คิดได้ทบทวนตัวเลข ดังนั้นการเล่นไพ่จึงเป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ สำหรับป้องกันอัลไซเมอร์ หรือแม้การเล่นไพ่นกกระจอก ก็มีประโยชนเช่นเดียวกัน เพราะจะมีลักษณลักษณ์ต่างๆ ให้ผู้สูงอายุได้จดจำ หรือท่องจำ เช่น ถ้าเพื่อนเปิดไพ่ใบนี้แล้ว เราจะต้องวางไพ่ที่เหลือให้เป็นสัญลักษณ์อะไร เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ เป็นการฝึกระบบการคิด และการจัดการไปด้วยในตัว

“นอกจากนี้การเล่นบอร์ดเกม หรือแม้แต่การเล่นหมากรุกและหมากฮอต ที่เป็นลักษณะของการสื่อสารสองคน หรือมีการโต้ตอบกันไปมา หรือการสื่อสารแบบทูเวย์ ก็เป็นการฝึกสมองผู้สูงวัย และฝึกไหวพริบการจัดการ เช่น ถ้าเพื่อเดินหมากฮอตตัวนี้ เราจะมีวิธีเดินเลี่ยงอย่างไร เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งได้ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่เพียงทำให้ผู้สูงวัยได้คิด แต่ยังเป็นการกระตุ้นความทรงจำ และยังทำให้คนสูงวัยมีเพื่อนมีสังคมไม่เหงา ส่วนการที่ผู้สูงวัยนั่งเล่นเกมในมือถือ หรือแท็ปแล็ตก็เป็นการฝึกสมองเช่นเดียวกัน แต่ก็จะไม่ดีเท่ากับการเลือกทำกิจกรรม ที่ต้องเล่นผ่าน 2 คนขึ้นไป”

5.การเข้าสังคม มนุษย์ทุกคนนั้นเป็นสัตว์สังคม อีกทั้งโรคอัลไซเมอร์จะเกี่ยวกับข้องการเข้าสังคมด้วย เพราะถ้าเราอยู่คนเดียว สมองของเราจะเหี่ยวและฝ่อลงได้ง่าย ที่สำคัญเมื่อป่วยเป็นอัลไซเมอร์แล้ว จะเสี่ยงต่อภาวะโรคซึมเศร้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นอัลไซเมอร์จึงกระตุ้นโรคซึมเศร้าได้นั่นเอง ดังนั้นการเข้าสังคมไปพบเพื่อน และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นสิ่งที่ช่วยได้

6.การป้องกันหรือหมั่นดูแลตัวเอง ให้ปราศจากโรคพื้นฐาน หรือโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในแส้นเลือด เป็นสิ่งที่ดี เพราะผู้ป่วยโรคเหล่านี้ ที่ไม่สามารถควบคุมโรคให้ปกติ จะนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ได้

7.แนะนำให้เลี่ยงกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อศรีษะ หรือทำให้ศีรษะได้รับการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น เลี่ยงการโม่งลูกฟุตบอล โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งจะนำมาสู่อัลไซเมอร์ในที่สุด

8.งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา และยาเสพติดทุกชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการทำงานของเซลล์สมอง ให้หยุดชะงักหรือทำงานได้ไม่ดี เสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ได้ในที่สุด

“ จากข้อมูลพบว่าอาหารที่เชื่อกันว่า เมื่อรับประทานแล้ว มีส่วนทำให้ป้องกันอัลไซเมอร์ได้ เช่น แปะก๋วย หรือสารสกัดจากเมล็ดองุ่น ซึ่งอาหารดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย  และต้องรอผลการวิจัยเพื่อออกมายืนยันอีกครั้ง จึงยังไม่สามารถที่จะรับรองได้ว่า สามารถป้องกันอัลไซเมอร์ได้จริง แต่ทั้งนี้การเลี่ยงการบริโภคน้ำตาล หรือบริโภคให้น้อยลง จะช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ ที่สำคัญเมื่อมีโรคประจำตัวข้างต้น ก็ต้องไม่ปล่อยปละละเลย เพราะการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่แท้จริงไม่สามารถช่วยได้ด้วยยา หรือไม่มีวิธีไหนที่ดีกว่าการปรับ 8 พฤติการเสี่ยงข้างต้นที่ช่วยได้จริง หรือก่อให้เกิดประโยชน์จริง ”

Related Posts

Send this to a friend