ART & CULTURE

ปักหมุดประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล

ที่แรกของไทย “บ้านทับตะวัน-บนไร่ จ.พังงา” ผู้ว่าฯยันผลักทุกหน่วยงานส่งการบ้านต่อเนื่อง ดูแลอย่างยั่งยืน

วันนี้ (26 พ.ย. 65) ชาวบ้านมอแกลน ชุมชนทับตะวัน-บนไร่ ทำพิธีวางหมุดประกาศ “เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 14” เป็นพื้นที่นำร่องตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 เพื่อคุ้มครองวัฒนธรรมวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ ภาษา และวัฒนธรรมอื่นให้ได้รับการปกป้อง พร้อมเร่งรัดให้รัฐประกาศ พรบ.คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์มีหลักประกันที่ยั่งยืน โดยมีกลุ่มเครือข่ายชาติพันธุ์ชาวเล ทะเลอันดามัน จาก จ.พังงา,กระบี่,ภูเก็ต,สตูล และระนอง พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำโดย นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา , ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และตัวแทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยาน

พื้นที่ชุมชนทับตะวัน-บนไร่ นับเป็นพื้นที่แรกของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่ถูกประกาศนำร่องเป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์มอแกลนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มากว่า 13 ชั่วอายุคน ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่อื่นที่เดินทางมาร่วม ทั้งชาวเผ่าอุรักลาโว้ย ชาวเผ่ามอแกลน และชาวเผ่ามอแกน ที่ร่วมระดมข้อเสนอให้มีการพิจารณาพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมเป็นลำดับต่อไปด้วย

ในพิธีมีครูหมอ ผู้นำทางจิตวิญญาณ เป็นผู้ประกอบพิธีบูชาบรรพบุรุษ “พ่อตาสามพัน” เพื่อบอกกล่าวต่อบรรพบุรุษให้ช่วยปกปักษ์รักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้เพื่อลูกหลาน นำเอาข้าวเปลือก เปลือกหอย ดินหน้าบ้าน ดอกไม้ วางลงในแท่นหมุด และปิดแท่นหมุดจำลองเพื่อประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม

นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ประธานในพิธี กล่าวถึงการดูแลคุ้มครองพื้นที่ทางวัฒนธรรมของชาวบ้านอย่างยั่งยืนนั้น มี 2 ระดับ คือระดับชาติคือมติครม. ปี 2553 และระดับพื้นที่ซึ่งต้องทำงานอย่างบูรณาการกับทุกหน่วยงานทั้งวัฒนธรรมจังหวัด กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งฯ กรมที่ดิน อปท. เพราะการดูแลพี่น้องชาติพันธุ์ต้องมีการดูแลในหลายมิติ ทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่จิตวิญญาณ ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งมีการประชุมพูดคุยกันมาตลอด หลังจากนี้จะเข้มข้นขึ้น ทุกหน่วยงานต้องส่งการบ้านเพื่อทำให้พี่น้องทุกคนซึ่งเป็นคนไทยไม่ต่างจากเรา ได้รับทุกอย่างอย่างเท่าเทียม พร้อมบรรจุโครงการพัฒนาลงไปในแผนพัฒนาจังหวัดเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

ด้าน ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ระบุว่า ชุมชนทับตะวัน บนไร่ ของพี่น้องชาวเล เป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดตัวอย่างหนึ่งจากทั้ง 14 พื้นที่ที่ทางศูนย์ได้ประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองวัฒนธรรม เพื่อให้พี่น้องชาติพันธุ์ได้ ดำรงวิถีชีวิตแบบพึ่งตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ กลุ่มพี่น้องที่นี่สามารถพูดคุยหารือได้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ทำให้เกิดการตกลงร่วมกันและผลักดันการคุ้มครองนี้ขึ้น

“…การเป็นพื้นที่คุ้มครองเหมือนเป็นการสร้างพื้นที่กลางขึ้นมา ซึ่งจะช่วยให้เรื่องราว สิ่งที่เป็นความต้องการ ปัญหาต่างๆ มีช่องทางในการแก้ไขมากขึ้น แทนที่ต้องไปเรียกร้องหรือยื่นหนังสือร้องเรียน ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมความร่วมมือขึ้น…” ดร.นพ.โกมาตร กล่าว

เรื่อง/ภาพ : ทศ ลิ้มสดใส

Related Posts

Send this to a friend