ART & CULTURE

ศิลปินขบถ กับผลงาน ชีวิต และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความเชื่อในแบบของตนเอง

กฎเกณฑ์ และกฎระเบียบเป็นเรื่องธรรมดาของทุกสังคม “ความคิดต่าง” “ความเชื่อที่แตกต่าง” ไปจากวิถีประชา หรือขนบที่สังคมบอกว่า สิ่งนั้นคือดี สิ่งนี้คือความถูกต้อง จึงมักถูกต่อต้าน ประณาม ดูถูก ผู้เห็นต่างจึงเป็นส่วนน้อยของสังคมที่ต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อนำเสนอความเป็นตัวตนของตนเองออกมา และสร้างพื้นที่ให้ความต่างได้เบ่งบานงดงาม

ศิลปิน อิมเพรสชั่นนิสต์ ก็เช่นเดียวกัน พวกเขาต้องการนำเสนอความงดงาม และศิลปะที่แตกต่างจากเมนสตรีมในยุคนั้น และนำศิลปะมาสู่ผู้คน ชีวิต และถ่ายทอดความประทับใจในขณะที่เห็นออกมาในแบบของตัวเอง โดยไม่ต้องเหมือนจริง ไม่ต้องงดงามในแบบที่ใครๆ ว่าดี พวกเขารวมตัวกันแลกเปลี่ยน สร้างสรรค์ และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกันที่คาเฟ่เล็กๆ แห่งหนึ่งในเมืองแห่งศิลปะอย่างปารีส

Art is about emotion, if art needs to be explained it is no longer art.

ศิลปะเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หากงานศิลปะต้องการคำอธิบาย มันก็ไม่ใช่ศิลปะแล้ว

Pierre-Auguste Renoir (ปิแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์)

“The Impressionists” งานนิทรรศการศิลปะแบบสื่อผสมที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลกรุงเทพฯ (MODA – Museum of Digital Art Bangkok) ชั้น 2 ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก เป็นงานที่จะพาเราไปสัมผัสภาพผลงานของเหล่าศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ ไม่ว่าจะเป็น เอดูอาร์ มาเนต์ (Edouard Manet) โคลด โมเนต์ (Claude Monet) เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) ออกุสต์ เรอนัวร์ (Auguste Renoir) อ็องรี เดอ ตูลูส-โลเทร็ค (Henri De Toulouse-Lautrec) อ็องรี รูสโซ (Henri Rousseau) จอร์จ เซอราต์ (George Seurat) ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์ (Vincent Van Gogh) ปอลล์ เซซานน์ (Paul Cezanne) และ ปอล โกแก็ง (Paul Gauguin)  ขบถแห่งวงการศิลปะในยุคศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้งานอิมเพรสชั่นนิสม์ เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

การจัดแสดงส่วนแรก แบ่งเป็น 4 โซน เริ่มต้นที่ โซนที่ 1 ถนนในกรุงปารีส ศตวรรษที่ 19 จำลองบรรยากาศให้เราหลุดเข้าไปในศตวรรษที่ 19 อันเป็นยุคที่ศิลปะคือวิจิตรศิลป์ที่มีรูปแบบแน่นอน และมีพี่ใหญ่อย่าง ‘Academie des Beaux-Arts’ หรือ สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งกรุงปารีส เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน และชี้เป็นชี้ตายให้กับศิลปินที่ต้องการจัดแสดงนิทรรศการ

โซนที่ 2 ขั้วขบถทางศิลปะ ที่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า เหล่าศิลปินขบถทั้งหลายต้องการจะก้าวข้าม “รูปแบบศิลปะ” ที่ถูกประทับตรารับรองโดยพี่ใหญ่แห่งวงการ ได้รวมตัวกันแบบหลวมๆ ภายใต้ความเชื่อเดียวกันในศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์

“Painting from nature is not copying the object; it is realizing one’s sensations.”
– Paul Cezanne
“การวาดภาพธรรมชาติ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบมัน แต่เป็นการเข้าถึงอารมณ์ของมันต่างหาก”
– ปอลล์ เซซานน์

โซนที่ 3 คาเฟ่ เชร์บัวส์ (Café Guerbois) ซึ่งหากเป็นบ้านเราก็คงเรียกได้ว่าเป็นสภากาแฟที่เหล่าศิลปินขบถที่ชื่นชอบในศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ จะมารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยน ถกเถียง และเสพศิลป์ที่ชื่นชอบไปด้วยกัน นอกจากนี้ที่แห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานแสดงศิลปะแนวอิมเพรชชั่นนิสม์แห่งแรกในปี 1874 อีกด้วย (เนื่องจากงานแสดงศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์นี้ถูกปฏิเสธการจัดแสดงในปารัส ซาลง สถานที่จัดแสดงศิลปะหลักของปารีสในยุคนั้น) โดยเป็นนิทรรศการศิลปะที่จัดโดย โมเนต์ (Monet) พิสซาโร (Pissaro) เดกาส์ (Degas) เรอนัวร์ (Renoir) ซิสลีย์ (Sisley) และ แบร์ธ โมริโซ (Berthe Morisot) พร้อมด้วยผลงานศิลปะทั้งหมด 165 ชิ้นจากศิลปิน 30 คน โดยมีผู้เข้ามาชม (ติ) นิทรรศการถึง 3,500 คน

“Everyone discusses my art and pretends to understand, as if it were necessary to understand, when it is simply necessary to love.”
Claude Monet
“ผู้คนพูดคุยกันถึงงานของฉัน และแสร้งทำเป็นเข้าใจ ราวกับว่ามันต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วแค่รักมันก็พอแล้ว”
โคลด โมเนต์

โซนที่ 4 นิทรรศการครั้งแรกของเหล่าศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ จำลองภาพงานนิทรรศการศิลปะของเหล่าศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์ชั้นนำ ได้แก่ เอดูอาร์ มาเนต์ (Edouard Manet) โคลด โมเนต์ (Claude Monet) เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas) ออกุสต์ เรอนัวร์ (Auguste Renoir) อ็องรี เดอ ตูลูส-โลเทร็ค (Henri De Toulouse-Lautrec) อ็องรี รูสโซ (Henri Rousseau) จอร์จ เซอราต์ (George Seurat) ฟินเซนต์ ฟาน ก็อกฮ์ (Vincent Van Gogh) ปอลล์ เซซานน์ (Paul Cezanne) และ ปอล โกแก็ง (Paul Gauguin)      

“I paint what I see and not what others like to see.”
Édouard Manet
“ฉันวาดสิ่งที่ฉันเห็น ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นอยากเห็น”
เอดูอาร์ มาเนต์

ส่วนที่ 2 เป็นส่วนจัดแสดงแบบมัลติมีเดีย ซึ่งมีทั้ง สวนบึงของโมเนต์ ที่มีสะพานญี่ปุ่น และบึงบัวที่เป็นที่มาของภาพ Bridge over a pond of water lilies อันโด่งดังของโมเนต์ และภาพวาดผลงานของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสต์มากมายที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันฉายภาพผ่านโปรเจคเตอร์จำนวนมากไปยังมุมต่างๆ ด้วยแสง และสีที่แตกต่างกันไป ประกอบเสียงดนตรีที่ขับให้อารมณ์ความรู้สึกของแต่ละภาพได้อย่างเด่นชัด

ห้องบอลรูม ห้องซ้อม หรือเวทีการแสดงและการสังสรรค์ ผลัดเปลี่ยนไปด้วยผลงานของสามศิลปินที่นำเสนอภาพของเหล่านักเต้น นักบัลเลต์ และโรงละคร รวมไปถึงสีสันยามค่ำคืนในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ เดอกาศ์ เรอนัวร์ หรือตูลูส-โลเทร็ค

บรรยากาศของท่าเรือจำลองในฝรั่งเศส อันเป็นที่มาของภาพ Impression Sunrise อันโด่งดัง ของโมเนต์

ที่นิทรรศการ The Impressionists ดนตรี ศิลปะ และภาพเคลื่อนไหวถูกนำมารวมกันเพื่อให้เราได้สัมผัสงานศิลป์อิมเพรสชั่นนิสม์ของเหล่าศิลปินได้อย่างเพลินเพลิน จนแทบจะลืมเวลา และยังสามารถถ่ายภาพประทับใจในมุมแปลกใหม่แบบไม่ซ้ำใครได้ที่นี่อีกด้วย

นิทรรศการ The Impressionists เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ ถึง 18 เมษายน 2564 ที่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลกรุงเทพฯ (MODA) ชั้น 2 ของริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก วันธรรมดา ตั้งแต่เวลา 11.00 น. -20.00 น. และวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุด ตั้งแต่ 10.00 น. – 20.00 น. (บัตรราคา 350 บาท เด็ก และผู้สูงอายุ 250 บาท) หรือซื้อบัตรเข้าชม พร้อมหนังสือในราคา 600 บาท และพิเศษสำหรับผู้ที่ต้องการสะสมของที่ระลึกสามารถชมได้ที่ The Gallery Shop ชั้น 1 โดยตลอดเดือน มีนาคมนี้ยังมีโปรโมชั่นบุฟเฟต์หนังสือ 2 เล่มในราคา 600 บาท

Related Posts

Send this to a friend