ART & CULTURE

“60 แดด 300 จุ่ม” เพิ่มมูลค่าผ้าทอทุ่งกุลาร้องไห้

พาชมความงามผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง สินค้า GI ประจำจังหวัดศรีษะเกษ ย้อมผ้าดำด้วยผลมะเกลือ เพิ่มมูลค่าผ้าทอทุ่งกุลาร้องไห้

“60 แดด 300 จุ่ม” บอกถึงระยะเวลาการผลิตผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง สินค้า GI ประจำตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งเป็นผ้าที่ทอจากกี่พื้นบ้านทอมือ มีลายเอกลักษณ์ที่เรียกว่า ลายลูกแแก้ว มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนเล็กใหญ่ซ้อนกันเป็นจุด กระจายทั่วผืนผ้า นิยมนำมาตัดเย็บตามแบบเสื้อพื้นบ้านของชนเผ่าส่วยเขมร เย็บและปักลายเป็นลวดลายต่าง ๆ เรียกว่า “การแซว”

ชาวบ้านมักแซวผ้าเป็นลวดลายต่าง ๆ ตามความเชื่อ ประกอบด้วย ลายมะเขือ สัญลักษณ์งานไหว้ครู ลายขัดตาแหลว มาจากลายไม้ขัดตาแหลวในงานไหว้พระแม่โพสพ ลายตีนตะขาบ มาจากลายธงในงานทอดกระฐิน ลายตีนไก่ มาจากการเสี่ยงทายคางไก่ ในงานแต่งงานของชนเผ่าเขมร

นางฉลวย ชูศรีสัตยา ประธานวิสาหกิจชุมชนรักษ์เมืองหลวง กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวงแตกต่างไปจากที่อื่นคือ สีดำที่ย้อมมาด้วยมะเกลือ ผสมกับใบต้นขนให้ผ้ามีกลิ่นหอม ก่อนที่อบผ้าด้วยสมุนไพรท้องถิ่น อาทิ ใบเล็บครุฑ ขมิ้น และว่านหอม

“มะเกลือจะออกผลผลิตปีละครั้ง เราจะนำมาดองเก็บไว้เพื่อใช้ย้อมผ้า ซึ่งใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน เป็นที่มาของคำว่า 60 แดด 30 จุ่ม”

นายไพฑูรย์ ไชยพันธ์ ผู้ประกอบการแปรรูปกระเป๋า วิสาหกิจชุมชนรักษ์เมืองหลวง กล่าวว่า ปัจจุบันเราแปรรูปผ้าไหมเป็นกระเป๋ารูปทรงต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้ชุมชนหลักแสนต่อปี ทั้งยังมีแผนที่จะรุกตลาดออนไลน์อีกด้วย

นายนคร บุตรดีวงศ์ พาณิชย์จังหวัดศรีษะเกษ กล่าวว่า ผ้าไหมเก็บบ้านเมืองหลวง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรักษ์เมืองหลวง จะมีความชำนาญเรื่องการแซว หรือการปักลายตามขอบเสื้อที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่มีจังหวัดใดทำได้ สิ่งที่กังวลคือ การถ่ายทอดความรู้ในการปักแซว การทอผ้า และย้อมผ้าให้เด็กรุ่นหลัง ที่ต้องมีการสานต่อ

เรื่อง: ณัฐพร สร้อยจำปา
ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend