BUSINESS

ซิตี้แบงก์ คาดเศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 63 ติดลบ 3.5% และจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก 5.5% ในปี 64

ซิตี้แบงก์ ประเทศไทย เผยผลการวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกครึ่งหลังปี 2563 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกติดลบ 3.5% ก่อนที่ตลาดโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 5.5% ในปี 2564 ขณะที่ระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8% โดยได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมือง รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา ในขณะที่ภาพรวมตลาดการลงทุนยังคงประสบความท้าทายสูง อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์ซิตี้ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฎจักรที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง แนะนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น รวมถึงพันธบัตรสหรัฐอเมริกา สกุลเงินเยน และการลงทุนในทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพอร์ตการลงทุน พร้อมแนะให้เฝ้าติดตามประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาวลดความเสี่ยงจากการลงทุนท่ามกลางสภาวะผันผวน

นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า นักวิเคราะห์ซิตี้คาดการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ติดลบ 3.5% ก่อนที่ตลาดโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 5.5% ในปี 2564 ในขณะที่ระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.8% และเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในปี 2564 จากปัจจัยแนวโน้มความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่ยังคงตึงเครียด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจระดับภูมิภาคคาดว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวลงเล็กน้อย -1.5% และคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้น 6.4% ในปี 2564 ในทางกลับกันด้านตลาดพัฒนาแล้วมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว -5% ในปีนี้จากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนมีความความท้าทายสูง ถึงแม้ว่าตลาดทุนทั่วโลกกลับตัวบวก 40.6% จากจุดต่ำสุดในเดือนมีนาคม แต่ก็ยังติดลบ 4% เมื่อเทียบกับต้นปี (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 – วันที่ 23 มิถุนายน 2563)

นอกจากนี้ยังคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีนี้อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างหนัก แต่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากมาตรการคลายล็อคดาวน์ของหลายประเทศและการที่สามารถเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ และโดยเฉพาะหากมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคได้สำเร็จ โดยจีดีพีของสหรัฐอเมริกาในปีนี้คาดว่าจะหดตัว 3.3% แต่เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จากอัตราการว่างงานที่ลดลง รวมถึงยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 0% – 0.25% รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐมีแผนอัดฉีดเงินมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

บุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

ส่วนยุโรปคาดว่าจีดีพีจะลดลง 6.7% สืบเนื่องมาจากการมาตรการข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ออกมา โดยแนวโน้มการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี กว่าจีดีพีจะกลับไปสู่ระดับเดิมเทียบเท่าช่วงไตรมาส 4 ปี 62 ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำกว่า 0% ต่อเนื่อง ล่าสุดเปิดโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเป็นวงเงินสูงถึง 7.5 แสนล้านยูโร ตลอดจนคณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านยูโร สำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยเหลือและปกป้องเศรษฐกิจของยุโรปที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ในขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้จะโต 0.5% โดยเฉพาะประเทศจีนที่อาจโตแตะ 2.4% เนื่องจากความต้องการภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นได้จากประเทศจีนที่แม้เป็นประเทศแรกที่เผชิญหน้ากับไวรัส แต่ก็เริ่มเห็นการกลับมาทำกิจกรรมในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ โดยไตรมาส 1 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจอื่น ๆ พบว่าช่วงไตรมาส 2 ส่วนใหญ่ยังคงเห็นการถดถอยอยู่ก่อนที่จะมีการค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมามีการฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง แนวโน้มจะเป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค

ด้านน้ำมันยังคงเป็นที่น่าจับตา โดยน้ำมันดิบยังมีอุปสงค์สวนทางกับอุปทานจึงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 42 และ 38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบารร์เรลตามลำดับ ส่วนทองคำยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600 -1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และมีแนวโน้มว่ามูลค่าเฉลี่ยจะขยับขึ้นในระดับประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในปี 2564

ส่วนค่าเงินต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้คาดยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาวจากปัจจัยการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อตอบสนองสภาพคล่องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวเงินบาทไทยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 31.0 – 31.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ภาพประกอบ: Photo by Obi Onyeador on Unsplash

Related Posts

Send this to a friend