ENVIRONMENT

รับผลกระทบเต็มๆ หากสร้างเขื่อนสานะคามกั้นโขงในลาว รมช.เกษตรฯ ยอมรับเสนอจัดตั้งกองทุนเยียวยา ส.ส.เลย แนะให้ต่อรองมาสร้างบนพรมแดนไทย-ลาวแทน

วันนี้ (22 ก.ค. 63) ที่อาคารรัฐสภา กทม. ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จ.เลย ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง โครงการเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนสานะคาม ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว แต่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ชี้แจงแทน

นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า อ.ปากชม จ.เลย เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโขง กั้นพรมแดนไทยลาว ตนได้ลงพื้นที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพลำน้ำโขง และทราบจากชาวปากชมว่า ในอดีต แม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์ ระดับน้ำขึ้นลงตามฤดูกาลเป็นปกติ แม่น้ำโขงไหลจากจีน พม่า ลาว เข้าพรมแดนไทยลาว และเข้าลาว มาโผล่อีกที่ อ.เชียงคานและ อ.ปากชม จ.เลย ไหลต่อลงไป จ.หนองคาย ซึ่งปกติฤดูฝนน้ำขึ้น หน้าแล้งระดับน้ำก็ลดลงปกติ แต่เมื่อสร้างเขื่อน 11 แห่งในจีน 20 กว่าปีที่ผ่านมาได้มีปรากฎการณ์แม่น้ำโขงขึ้นลงไม่ปกติ ได้ยิน ปภ.(ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) รับแจ้งจากรัฐบาลจีนว่า จีนลดระบายน้ำ ส่งผลกระทบต่อไทย

“นี่เป็นการเริ่มต้นของอันตราย แต่ที่รุนแรงมากที่สุด คือการที่ สปป.ลาว มีวิสัยทัศน์ แบตตเตอรี่ออฟเอเชีย แม่น้ำโขงมีปลา 1,300 สายพันธุ์ เมื่อสร้างเขื่อนจีน ผลกระทบชัด เมื่อสร้างเขื่อนในลาวแห่งแรก คือเขื่อนไซยะบุรี เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อแม่น้ำโขง ท้ายเขื่อนในประเทศไทย สปป.ลาว ร่วมลงทุนกับเอกชนของไทย คือ บริษัท ช.การช่าง และหลายสถาบันการเงิน ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กว่าร้อยละ 93 อีกเพียง 7%ใช้ในลาวเอง” นายเลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จ.เลย

ส.ส.จังหวัดเลยกล่าวอีกว่า เขื่อนไซยะบุรีเริ่มทดสอบการผลิตไฟฟ้า ในปี 2562 ผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนไซยะบุรี เห็นปรากฎชัดเจน แม่น้ำโขงที่ อ.สังคม จ.หนองคาย สภาพลำน้ำเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด พันธุ์ปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ แทบจะไม่มีแล้ว นอกจากเขื่อนไซยะบุรีแล้ว สปป.ลาวยังได้แจ้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC เพื่อขอทำเขื่อนอีกหลายตัว ได้มีกระบวนการ PNPCA หรือการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า ที่สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ในไทยก็ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย ทั้งโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ซึ่งเสร็จในเวทีที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวต่อไปว่า แค่เขื่อนไซยะบุรีแห่งเดียวก็ส่งผลกระทบต่อลำน้ำโขงและสภาพแวดล้อมมากแล้ว ในเวลาอันใกล้นี้ ใน สปป.ลาว จะมีเขื่อนเพิ่มอีก 4 เขื่อน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับลำน้ำโขงในไทย ที่สำคัญจะต้องตั้งกระทู้นี้ถามนายกรัฐมนตรี คือ การสร้งเขื่อนสานะคาม ซึ่งจะสร้างใกล้ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของ จ.เลย เช่น สกายวอล์คที่ท่าดีหมี มองไปในอนาคตจะเห็นสันเขื่อน

ตรงนี้จะกระทบโครงการโขงเลยชีมูล ที่น้ำในหน้าแล้งจะน้อยลง กระทบโครงการผันน้ำโขงเลยชีมูลอย่างแน่นอน นี่คือการสร้างเขื่อนใน สปปป.ลาว จะส่งผลกระทบไทย จึงขอตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คำถาม คือ

1. บทบาทของรัฐบาลไทยที่มีต่อการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว การไปร่วมออกแบบเขื่อนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เช่น เรื่องเขื่อนแตกใน สปป.ลาว หากเกิดก็จะกระทบ อ.เชียงคาน และอำเภออื่นๆ อยากทราบว่ารัฐบาลไทยมีบทบาทอย่างไร

2. โครงการนี้หากเกิดขึ้น น้ำโขงที่ปล่อยจากเขื่อนสานะคามจะกระทบแน่นอน ที่ อ.ปากชม ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สร้างพนังกันตลิ่งพัง ซึ่งยังสร้างไม่เสร็จ จึงอยากให้กรมโยธาทำให้สมบูรณ์ คำถามคือ รัฐบาลเตรียมพร้อมอย่างไรที่จะดูแลและเยียวยาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนริมฝั่งโขง

3 ผู้ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว คือ กฟผ. ดังนั้นประเทศไทยเองมีอำนาจต่อรอง หากเขื่อนจะเกิดขึ้นจริงทำไมไม่ย้ายจากสานะคาม มาไว้ที่พรมแดนไทยลาว เช่น อ.ปากชม ไหนๆ ก็จะสร้างอยู่แล้วทำไมไม่สร้างในพื้นที่ของเราเอง

ขณะที่นายประภัตร ได้ชี้แจงว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนจริงทุกอย่างกระทบแน่นอน ลำน้ำโขงเป็นลำน้ำสากล ใช้ร่วมกัน 6 ประเทศ มีต้นกำเนิดไหลจากทิเบต ลงมาถึงสิบสองปันนา ผ่านพม่าลาว โผล่ที่ อ.เชียงแสน ผ่าน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น (จ.เชียงราย) และหายเข้าไปในลาว 500 กว่ากิโลเมตร ตรงนี้เราไม่สามารถเข้าไปพิจารณาร่วมหรือมีส่วนร่วมรู้ได้ เขาจะสร้างเขื่อนก็เป็นเรื่องของเขา มีสัญญา4 ประเทศ ที่ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ลงนามในการใช้แม่น้ำโขง โดยอีก 2 ประเทศไม่ได้ร่วม แม่น้ำโขงจะมาโผล่อีกทีที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ไหลเรื่อยมา ผ่าน 8 จังหวัด หนองคาย บึงกาฬ

รมช.เกษตรและสหกรณ์กล่าวต่อว่า ถึงแม้เป็นแม่น้ำร่วมกัน แต่บางอย่างก็ขัดกัน การสร้งเขื่อนสานะคาม ผลกระทบอย่างไร เวลานี้เขื่อนไซยะบุรี กำลังผลิต 1,285 เมกะวัตต์ (MW) ถือเป็นเขื่อนใหญ่ จ่ายกระแสไฟแล้ว โครงการเขื่อนสานะคาม กำลังผลิต 684 เมกะวัตต์ ไฟก็ขายให้ไทย สิ่งต่างๆ ผลกระทบได้เกิดแล้ว ตั้งแต่เขื่อนจิงหง เขื่อนไซยะบุรี ทุกวันนี้ชีวิตคนที่ใช้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปเลย ชีวิตสัตว์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด ปลาต่างๆ ในน้ำ ชีวิตริมน้ำโขง

นายประภัตร กล่าวว่าที่ถามว่ารัฐบาลเตรียมการไว้อย่างไร ตอบว่าเรามีข้อตกลง 4 ประเทศ รัฐบาลไทยมีข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ประเทศ พัฒนาแม่น้ำโขง พศ. 2538 มี สทนช.(สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ดูแล ผลกระทบชัดเจน จะมีการขึ้นลงระดับน้ำโขงโดยฉับพลัน ผลกระทบแรงมาก น้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำโขงปีหนึ่งๆ 130,000 ล้านคิว (ลูกบาศก์เมตร) แต่ในฤดูแล้ง เดือนเมษายน พฤษภาคม เหลือ 14,000 คิว คนใช้แม่น้ำโขงผลกระทบเต็มๆ รัฐบาลได้ศึกษาโดยคณะกรรมการฯ ให้ลาวได้ทราบว่าจะเกิดผลกระทบ ขณะนี้ก็กำลังศึกษาอยู่ ทางสปป.ลาวกำลังศึกษาจริงจัง หากแก้ไขได้ก็จะมีการก่อสร้างแน่ ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ผลกระทบท่านรับเต็มๆ เพราะห่างไป 2 กิโลเมตร เอง มีกรมชลประทาน สทนช. ไปดูแล ถามว่าผลกระทบจะทำอย่างไร เรียนว่าเราจะมีเงื่อนไขว่าหากเขื่อนสานะคามสร้างแล้วขายไฟฟ้าให้ไทย เราจะมีเงื่อนไขให้ กฟผ. เจรจาเรื่องความปลอดภัย เขาบอกจะสร้างต่ำกว่า 38 เมตร ถ้าเขื่อนพังเสียหายท่วมกันแน่นอน เราจะขอให้ กฟผ. เป็นตัวกลาง เราจะมีอำนาจต่อรอง เช่น ให้ตั้งกองทุนเยียวยาหากมีความเสียหาย ขอให้เปิดเผยในการก่อสร้างว่าปลอดภัยแค่ไหน

Related Posts

Send this to a friend