BUSINESS

หนุนภาคธุรกิจไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Model

องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand Business Council for Sustainable Development หรือ TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute หรือ TEI) จัดงานเสวนา “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนกับภาคธุรกิจไทย TBCSD ภายใต้วาระแห่งชาติ BCG Model” ภายใต้งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564” (Thailand Research Expo 2021) เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงนักวิจัยและประชาชนผู้ที่สนใจ ได้เข้าใจถึงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า “BCG Model” ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ  (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการวิจัยในการลดการใช้ทรัพยากร ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของภาคเอกชนไทยในปัจจุบันที่ได้มีการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรรม อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) เพื่อพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่คำนึงวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด มีการวางแผนให้สิ่งของที่ใช้สามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย”

นายคงศักดิ์ ดอกบัว ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก กล่าวว่า “ประเด็นปัญหาของพลาสติกในปัจจุบันที่เป็นข้อจำกัดในการจัดการพลาสติกให้กลับเข้าสู่ระบบตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือ ยังไม่มีการบริหารจัดการและการคัดแยกขยะที่มีประสิทธิภาพ หรือทำเพียงส่วนน้อย เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นและสิงคโปร์ที่มีการบริหารจัดการพลาสติกหลังการใช้งานที่ดี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 ได้กำหนดเป้าหมาย
ที่ 1 คือ การลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายที่ 2 คือ นำขยะพลาสติกกลับมา
ใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี 2570 ซึ่งการจัดการขยะพลาสติกต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกัน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน”

ด้าน นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “Dow ในฐานะผู้นำด้านวัสดุศาสตร์ (Materials Science) ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสนับสนุนให้เกิดโครงการจัดเก็บพลาสติกใช้แล้ว พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้สามารถนำพลาสติกใช้แล้วมูลค่าต่ำกลับมารีไซเคิลและใช้ประโยชน์ใหม่ได้อย่างสูงสุด ตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ Dow
ที่ต้องการกำจัดขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจหมุนเวียนจะเกิดได้จริงและอย่างสมบูรณ์นั้น ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และผู้บริโภค ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย BCG Model ตามนโยบายของภาครัฐ” 

ดร.วิจารย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า องค์กรภาคธุรกิจไทยควรศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับ BCG Model ด้วยการนำแนวคิดด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน  เพื่อเตรียมความพร้อมองค์กรให้ก้าวสู่เส้นทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหากองค์กรธุรกิจใดสามารถขับเคลื่อนธุรกิจของตนให้เข้าสู่ BCG Model ได้ก็จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีให้องค์กรภาคธุรกิจไทยอื่น ๆ สามารถนำรูปแบบการดำเนินงานที่ดีไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรธุรกิจนั้น ๆ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

Related Posts

Send this to a friend