‘ฮอนด้า’ ปรับทัพธุรกิจรับตลาดยานยนต์ผันผวน มุ่ง EV-ไฮบริดอัจฉริยะ

นายโทชิฮิโระ มิเบะ ผู้อำนวยการ ประธานกรรมการบริหาร และตัวแทนเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด แถลงแนวทางการดำเนินธุรกิจของฮอนด้า โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งและความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ฮอนด้าจึงปรับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ลูกค้า และรักษาความสามารถในการแข่งขัน
ฮอนด้าจะปรับกลยุทธ์ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้ 2 ทิศทางหลัก คือ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ และเสริมรากฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งผ่านการปรับพอร์ตโฟลิโอด้านระบบขับเคลื่อนใหม่ นอกจากนี้ บริษัทเตรียมพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ (ADAS) เจเนอเรชันใหม่ พร้อมผนวกความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ฮอนด้ายังปรับแผนเปิดตัวรถใหม่เนื่องจากการชะลอตัวของตลาด EV ทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลให้เป้าหมายสัดส่วนยอดขาย EV ทั่วโลกของบริษัทในปี 2030 ต่ำกว่าเป้าหมาย 30% ที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยจากนี้จะเน้นขุมพลังไฮบริดเป็นหลักในการเปลี่ยนผ่าน พร้อมเร่งขยายไลน์อัปไฮบริดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด (HEV) เจเนอเรชันใหม่ที่จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป จากการปรับแนวทางนี้ ฮอนด้าตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดขายในปี 2030 ให้มากกว่าระดับปัจจุบันที่ 3.6 ล้านคัน โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่ยอดขายรถยนต์ไฮบริด (HEV) 2.2 ล้านคัน
ด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ฮอนด้ากำลังพัฒนาระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (ADAS) เจเนอเรชันใหม่ ที่สามารถช่วยในการขับขี่ เช่น การเร่งและการบังคับเลี้ยวตลอดเส้นทางตามจุดหมายที่ผู้ขับขี่ป้อนลงในระบบนำทาง ทั้งบนทางด่วนและถนนในเมือง บริษัทมีแผนติดตั้งระบบ ADAS เจเนอเรชันใหม่นี้ในรถยนต์ EV และ HEV รุ่นหลัก ๆ ที่จะเปิดตัวในอเมริกาเหนือและญี่ปุ่นในปี 2027 สำหรับตลาดจีน ฮอนด้าจะร่วมมือกับ Momenta Global Limited เพื่อพัฒนา ADAS รุ่นถัดไปที่เหมาะสมกับสภาพถนนในจีน และติดตั้งในรถยนต์ฮอนด้าทุกรุ่นที่จะเปิดตัวในจีนอนาคต
เพื่อเสริมแกร่งกลยุทธ์ EV ฮอนด้ามุ่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบไฮบริด e:HEV โดยพัฒนาต่อยอดบนระบบไฮบริด 2 มอเตอร์เดิม ผนวกกับการพัฒนาแพลตฟอร์มเจเนอเรชันใหม่ที่ล้ำสมัย มีเสถียรภาพและน้ำหนักลดลง และระบบมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนสี่ล้อ (Electric AWD) ที่พัฒนาใหม่ บริษัทตั้งเป้าพัฒนาระบบขับเคลื่อนฟูลไฮบริด e:HEV เจเนอเรชันใหม่ให้มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันดีขึ้น 10% และปรับลดต้นทุนระบบลง 50% เมื่อเทียบกับระบบในรุ่นปี 2018 และลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับระบบในรุ่นปี 2023 สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ ฮอนด้าจะพัฒนาระบบไฮบริดสำหรับรถขนาดใหญ่ เพื่อติดตั้งในรถที่จะเปิดตัวช่วงครึ่งปีหลังของทศวรรษ 2020 และมีแผนเปิดตัวรถ HEV เจเนอเรชันใหม่รวม 13 รุ่นทั่วโลก ภายใน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2027
ฮอนด้ายังคงเชื่อมั่นว่ายานยนต์ไฟฟ้า (EV) คือหนทางสำคัญสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และจะเดินหน้าเตรียมรากฐานเพื่อก้าวสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ สำหรับไลน์อัป Honda 0 Series ซึ่งเป็นเสาหลักของธุรกิจ EV ในอนาคต บริษัทจะเผยโฉมรถยนต์รุ่นแรกในปีหน้า โดยจะส่งมอบคุณค่า Software-Defined Vehicle (SDV) ที่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละคนผ่านฟังก์ชัน “ultra-personal optimization” ด้วยการทำงานร่วมกันของระบบปฏิบัติการยานยนต์ ASIMO OS และระบบ AD/ADAS Honda 0 Series เจเนอเรชันถัดไปจะมาพร้อมสถาปัตยกรรมยานยนต์แบบ Centralized E&E Architecture เพื่อมอบระบบ AD/ADAS ที่ล้ำสมัยยิ่งขึ้น ฮอนด้าจะใช้โลโก้ H Mark ดีไซน์ใหม่ในรถไฮบริดเจเนอเรชันใหม่ที่จะเริ่มเปิดตัวในปี 2027 ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้าในไลน์อัป Honda 0 Series เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนผ่านในธุรกิจยานยนต์
ในส่วนระบบการผลิต ฮอนด้าเตรียมจัดทำระบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับการผลิตได้ทั้ง EV และ HEV ในสายการผลิตเดียวกัน และจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานตามแนวคิด “ผลิตสินค้าให้ใกล้ชิดลูกค้า”
สำหรับธุรกิจรถจักรยานยนต์ ปีงบประมาณล่าสุด (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2025) ฮอนด้ามียอดจำหน่ายรวม 20.57 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40% ของยอดขายรวมในตลาดโลก และสร้างสถิติยอดขายสูงสุดใน 37 ประเทศและภูมิภาค ฮอนด้าคาดว่าความต้องการในตลาดจะยังเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงอินเดีย ทำให้ยอดขายรวมอุตสาหกรรมอาจเพิ่มจากราว 50 ล้านคัน เป็น 60 ล้านคันภายในปี 2030 บริษัทจะเร่งการใช้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าในรถจักรยานยนต์ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องยนต์สันดาป (ICE) และขยายไลน์ผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงทางเลือก ฮอนด้าได้เริ่มจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ารุ่น Active e: และ QC1 ในเดือนกุมภาพันธ์ และรุ่น CUV e: กับ ICON e: ในอินโดนีเซีย โดยมีแผนขยายตลาดมายังเวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ รุ่น CUV e: มีกำหนดวางจำหน่ายในยุโรปและญี่ปุ่นภายในปีนี้ นอกจากนี้ บริษัทจะตั้งโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะในอินเดีย คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในปี 2028 โดยตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดโลกที่ 50% และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (ROS) มากกว่า 15% ภายในปีงบประมาณ 2031 (สิ้นสุด 31 มี.ค. 2031)
ด้านกลยุทธ์การเงิน ฮอนด้าคาดการณ์ว่าจะเพิ่มผลกำไรภายในปี 2030 ผ่านการขยายธุรกิจรถจักรยานยนต์ การลดต้นทุนในธุรกิจยานยนต์ และการเพิ่มยอดขาย HEV โดยยังคงมุ่งเป้า ROIC ที่ 10% สำหรับปีงบประมาณ 2031 แผนการลงทุนในกลยุทธ์ EV ได้ปรับลดวงเงินลงทุนจาก 10 ล้านล้านเยน เหลือ 7 ล้านล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2031 เนื่องจากการเลื่อนโครงการ value chain สำหรับ EV ในแคนาดา และการยืดเวลาสร้างโรงงาน EV สำหรับการจัดสรรเงินทุนช่วง 5 ปีจากปีงบประมาณ 2027 ฮอนด้าตั้งเป้าสร้างกระแสเงินสดรวมมากกว่า 12 ล้านล้านเยน และคาดว่าจะเพิ่มการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ HEV เพียงเล็กน้อย บริษัทจะยังคงรักษาเป้าหมายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น และมุ่งให้ได้ผลกำไรมากกว่า 1.6 ล้านล้านเยน นอกจากนี้ ฮอนด้าได้ตัดสินใจนำอัตราส่วนเงินปันผลต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (DOE) มาใช้ เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการรักษาผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นอย่างสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ