BUSINESS

สสว. แถลงความสำเร็จโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน 1 แสนราย

สสว. แถลงความสำเร็จโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน 1 แสนราย มูลค่า 5 แสนล้านบาท ตั้งเป้าพัฒนาสู่ SME Catalog ระดับประเทศ ขยายสู่จัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน

วันนี้ (30 ก.ย.64) นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ร่วมกับกรมบัญชีกลาง และกระทรวงการคลังดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เปิดให้ผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านระบบขึ้นทะเบียนออนไลน์เว็บไซต์ www.thaismegp.com

จากข้อมูลการขึ้นทะเบียน SME ในระบบ THAI SME-GP (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2564) พบมี SME ขึ้นทะเบียนแล้ว 96,871 ราย คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเกิน 100,000 ราย มีรายการสินค้าและบริการมากกว่า 661,492 รายการ โดยสินค้าและบริการที่ขึ้นทะเบียนมากที่สุด ได้แก่ เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง รับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ส่วนจังหวัดที่ SME ขึ้นทะเบียนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา ปทุมธานี สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น เชียงราย และสมุทรปราการ

ขณะที่ข้อมูลจากกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 พบมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างจากระบบ THAI SME-GP กว่า 551,306 ล้านบาท โดยกลุ่มงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูง ได้แก่ งานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างอาคาร งานรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า-คอมพิวเตอร์ วัสดุสำนักงาน เป็นต้น ส่วนหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างมากสุด 20 อันดับแรก ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กองทัพบก การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพอากาศ การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพเรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมการปกครอง กองบัญชาการกองทัพไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกรมพัฒนาที่ดิน

อย่างไรก็ตามมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของ SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างรายการสินค้าหรือบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบ โดย SME จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการส่งเสริม SME ในเชิงพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเชิญ SME เจ้าของรายการสินค้าหรือบริการ ในพื้นที่ของหน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะใช้พัสดุ ไม่น้อยกว่า 6 ราย เพื่อจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีคัดเลือก และให้แต้มต่อด้านราคาไม่เกินร้อยละ 10 ในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding นอกจากนี้ SME จะได้รับประโยชน์อื่น ๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานสินค้าหรือบริการจาก สสว. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สสว. ยังจับมือกับสถาบันการเงินของภาครัฐและเอกชน 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนเงินทุน และสนับสนุนเงินทุนระยะสั้นเสริมสภาพคล่อง

“สสว. ตั้งเป้าพัฒนาระบบ THAI SME-GP ให้เป็น SME Catalog ของประเทศ ขยายขีดความสามารถ จากระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ไปสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement) เตรียมเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจภาคเอกชนและผู้ประกอบการรายใหญ่ ให้ร่วมสนับสนุน SME ในระบบ”

Related Posts

Send this to a friend