AROUND THAILAND

เปิดเอกสารผลสอบที่ดินเกาะหลีเป๊ะยุค “บรรหาร ศิลปอาชา” เป็นรมว.มหาดไทย เมื่อ 33 ปีก่อน

เคยมีคำสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอน ส.ค.1 และ น.ส.3 ที่ออกโดยมิชอบรวม 29 แปลง “ชาวเลหลีเป๊ะ” ให้เวลากระทรวงมหาดไทย 6 เดือน ดำเนินการคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ชาวเลอูรักลาโว้ยผู้บุกเบิกทำให้เกาะหลีเป๊ะเป็นดินแดนของประเทศไทย

หลักฐานชิ้นสำคัญที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ นำมายื่นหนังสือถึงนายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 นอกจากประวัติศาสตร์ชาวเลที่บุกเบิกเกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2440 และการถือครองที่ดินในเกาะหลีเป๊ะ ที่มีชาวเลได้รับสิทธิ์ออกเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดิน ส.ค.1 เมื่อปี 2498 จำนวน 41 แปลง (รวมที่ราชพัสดุ 1 แปลง) และหลักฐานเอกสาร นส.3 ที่มีการเปลี่ยนมือไปเป็นบุคคลอื่น จำนวน 19 แปลง ตามผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อปี 2549

หนังสือราชการลงเลขที่ มท.0100/6411 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2533 เรื่องการบุกรุกที่ดินที่เกาะลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เรียน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อ้างถึงหนังสือด่วนมาก ที่ นร.0202/ว (ล) 8624 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2533 ลงนามโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า เคยมีการตรวจสอบที่ดินเกาะหลีเป๊ะ และพบว่ามีการออกโดยมิชอบ และมีข้อสั่งการให้กรมที่ดินเพิกถอน ส.ค.1 จำนวน 17 แปลง และ น.ส.3 จำนวน 12 แปลง ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฏหมายโดยเร็ว ซึ่งเวลาผ่านมา 33 ปีแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

จากเอกสารระบุดังนี้

1.เรื่องเดิม ระบุว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องที่มีผู้บุกรุกที่ดินที่เกาะลิเป๊ะ จ.สตูล เพื่อทำรีสอร์ท แล้วให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่นั้น

2.รายละเอียดเรื่องที่เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

2.1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมด้วยข้าราชกาารชั้นผู้ใหญ่ของทั้ง 2 กระทรวง อาทิเช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมตำรวจ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการโยธาธิการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย อธิบดีกรมป่าไม้และรองอธิบดีกรมที่ดิน ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2533 ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพทั่วไป ประกอบกับการบรรยายของผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง สามารถประมวลเรื่องราวการบุกรุกที่ดินเกาะลิเป๊ะโดยสังเขป ดังนี้

2.1.1.เกาะลิเป๊ะ เป็นเกาะเล็กๆในหมู่เกาะอาดัง ซึ่งมีราษฏรตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ ขึ้นการปกครองกับ หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย (เดิมเรียกตำบลยะระโตด) อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 750 ไร่ นอกจากนี้เป็นที่อยู่อาศัย อยู่ห่างจากจังหวัดสตูลไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 50 กิโลเมตร มีประชากร 784 คน 140 ครัวเรือน ราษฎรประกอบอาชีพทางการประมง และทำสวนมะพร้าวบนเกาะ มีโรงเรียนการประถมศึกษา 1 โรง สถานีอนามัย 1 แห่ง ปัจจุบันเกาะลิเป๊ะ อยู่ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เมื่อประมาณปี พ.ศ.2459 ได้มีการอพยพราษฎรไปตั้งถิ่นฐานที่เกาะนี้ โดยการชักชวนของผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลในสมัยนั้น คือ พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ (ตุ๋ย บินอับดุลลาห์) และราษฎรก็ได้อยู่ในเกาะนี้ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

2.1.2.เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2492 ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบนเกาะ ในท้องที่ตำบลยะระโตด (ปัจจุบันคือตำบลเกาะสาหร่าย) อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อประโยชน์แก่การราชทัณฑ์ และกำหนดให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งต้องห้ามตามพระราชกฤษฎีกานี้ คือที่บนเกาะต่างๆที่อยู่ในเขตหวงห้ามใหม่ ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าจัดทำหรือปลูกสร้างด้วยประการใดๆ ในที่ดินเกาะเหล่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือ จากเจ้าหน้าที่ ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกา ถอนสภาพที่ดินส่วนหน้าดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2517 และมีพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินเกาะลิเป๊ะ และเกาะอื่นๆในท้องที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตุล เป็นอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในวันเดียวกัน

2.1.3.เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฏหมายที่ดิน ราษฎรบนกาะหลีเป๊ะ จึงได้แจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1 ) ในปี พ.ศ.2498 จำนวนทั้งสิ้น 41 แปลง (40 แปลงเป็นของเอกชน อีก 1 แปลง เป็นที่ราชพัสดุ)

(1) ในระหว่างปี 2511-2517 ได้มีการออก น.ส.3 จำนวน 17 แปลง จึงเหลือ ส.ค.1 ที่ยังไม่ได้ออก น.ส.3 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 24 แปลง (เป็นที่ราชพัสดุ 1 แปลง) ส.ค.1 จำนวน 24 แปลงนี้ กรมที่ดินมีความเห็นว่าออกให้โดยชอบ จำนวน 5 แปลง อีก 17 แปลงควรจำหน่าย

(2) น.ส.3 จำนวน 17 แปลง ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนบ้าน (ซื้อขายให้ ฯลฯ) ในระหว่างปี พ.ศ.2511-2516 แล้วจำนวน 16 แปลง ที่เหลืออีก 1 แปลง ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง และ น.ส.3 จำนวน 17 แปลงนี้ กรมที่ดินได้มีความเห็นว่า ออกโดยชอบจำนวน 5 แปลง อีก 12 แปลง มาจาก ส.ค.1 ที่ไม่ชอบ (เข้าทำกินหลังวันที่ 19 พฤษภาคม 2482 ) ควรเพิกถอน

(3) ที่ดินจำนวน 10 แปลง ที่กรมที่ดินมีความเห็นว่า ออก น.ส.3 โดยชอบจำนวน 5 แปลง และออก ส.ค.1 โดยชอบจำนวน 5 แปลง นั้น กรมป่าไม้ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความในเรื่องนี้ และขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ของคณะกรรมการกฤษฎีกา

2.2.กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ บริเวณหมู่เกาะดังกล่าวอันประกอบด้วยเกาะลิเป๊ะ เกาะอาดัง และเกาะราวี มีธรรมชาติที่งดงามสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกที่ดินบริเวณที่ได้ประกาศเป็นเขตอุทยานดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่เกาะลิเป๊ะ กระทรวมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัดสตูล และส่วนราชการในสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

(1) สั่งการให้จังหวัดสตูลเร่งสำรวจข้อมูล และขึ้นทะเบียนการอยู่อาศัย และครอบครองที่ดินของชาวเกาะลิเป๊ะ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีผู้อพยพ ย้ายถิ่นเข้ามาเพิ่มเติมในภายหลัง

(2) สั่งการให้กรมโยธอาธิการ เร่งรัดการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา เรื่องการควบคุมการก่อสร้างเพื่อสิ่งปลูกสร้างบนเกาะลิเป๊ะ และเกาะใกล้เคียง เพื่อเป็นการป้องกันนายทุน ไปกว้านซื้อที่ดินจากชาวเกาะลิเป๊ะเพื่อสร้างเป็นรีสอร์ท

(3) สั่งการให้กรมที่ดินและจังหวัดสตูล เร่งรัดดำเนินการขอเพิกถอน ส.ค.1 จำนวน 17 แปลง น.ส.3 จำนวน 12 แปลง ที่ออกโดยมิชอบด้วยกฏหมายโดยเร็ว พร้อมกับให้ติดตามผลการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในที่ดินจำนวน 10 แปลง ที่้อ้างว่า ออก น.ส.3 และ ส.ค.1 โดยชอบด้วยกฏหมาย

“จากการที่ได้พบปะเยี่ยมเยี่ยนราษฎรชาวเกาะลิเป๊ะ และผู้นำท้องถิ่นพบว่ามีปัญหาความเดือดร้อน เกี่ยวกับเรื่องสถานศึกษาและสถานีอนามัย เนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานประถมศึกษาแห่งชาติ 1 แห่ง มีนักเรียน 114 คน ครู 7 คนและสถานีอนามัย 1 แห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ การก่อสร้างอาคารให้ใหม่ จากสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ชาวเกาะลิเป๊ะใกล้เคียง”

จึงเรียนมาเพื่อโปรดนำเรื่องนี้ ให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ขอแสดงความนับถือ นายบรรหาร ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 19 มิถุนายน 2533

ด้าน นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยว่า “หลักฐานี้บ่งชี้ว่าเคยมีการตรวจสอบเรื่องนี้มาแล้วเมื่อในอดีต และเวลาผ่านมา 33 ปี ผลการสอบสวนนี้ไม่เคยดำเนินการ เพราะไม่เคยมีการเพิกถอน ตามที่มีคำสั่งของอดีตรมว.กระทรวงมหาดไทย และปัจจุบันเอกชนที่มีการถือครองเอกสารสิทธิ์ ได้มาฟ้องร้องขับไล่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ ทำให้เกิดข้อพิพาททั้งในที่ดินชาวเล และที่โรงเรียน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวเล ไม่มีสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน จึงขอให้กระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลกรมที่ดิน ตรวจสอบและดำเนินการเรื่องนี้ด้วย

รายงาน: ฐปณีย์ เอียดศรีไชย

Related Posts

Send this to a friend