AROUND THAILAND

ผลชันสูตรซากหมูแคระพบเชื้อ ASF เผย เชื้อลุกลามง่าย ติดแล้วตาย ย้ำ ไม่ติดคน-กินเนื้อหมูได้ตามปกติ

‘ผู้ช่วยคณบดีสัตวแพทย์ฯ’ ยืนยัน ผลชันสูตรซากหมูแคระ พบเชื้อ ASF 1 ตัวที่ กทม. เผย เชื้อมีความทนทาน ลุกลามง่าย ติดเชื้อแล้วตาย ย้ำ ไม่ติดคน-กินเนื้อหมูได้ตามปกติ แนะ คนเลี้ยงหมู เฝ้าสังเกตอาการ-ปฏิบัติตามระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ

วันนี้ (10 ม.ค.65) น.สพ.พิชัย จิรวัฒนาพงศ์ ผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายบริหาร คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกับ The Reporters ว่า ผลการชันสูตรหมูแคระที่เลี้ยงในกรุงเทพฯพบเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) สันนิษฐานว่า ติดเชื้อจากเศษอาหารของผู้เลี้ยงที่ให้หมูกิน โดยมีเอกสารยืนยันเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.64 ก่อนที่ทางหน่วยชันสูตรโรค คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จะแจ้งไปทางปศุสัตว์ จ.นครปฐม ก่อนที่จะแจ้งไปยังกรมปศุสัตว์ กรุงเทพฯเท่าที่ทราบมีเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนโรคพบว่า เจ้าของหมูเลี้ยงหมูแคระไว้ที่บ้าน  3 ตัว ซึ่งตายทั้งหมดจึงแจ้งวิธีการกำจัดเชื้อที่อาจหลงเหลืออยู่

โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ถือกำเนิดในประเทศแถบแอฟริกา เป็นเชื้อไวรัสที่มีขนาดใหญ่ มีเห็บเฉพาะถิ่นชนิดหนึ่งเป็นพาหะ ณ ปัจจุบันยังไม่มียารักษา และยังไม่มีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะเชื้อมีความทนทานมาก สามารถอยู่ในเนื้อแช่แข็งได้นานสุด 1,000 วัน ซึ่งหมูที่ป่วยด้วยโรคนี้จะตายหมดเกือบ 100% การกลับมาเลี้ยงใหม่ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio Security) ที่เข้มแข็ง 

สำหรับอาการเริ่มต้นค่อนข้างหลากหลาย ทั้งมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร ผื่นแดง ท้องเสียมีเลือดปน อาเจียนเป็นเลือด และหายใจติดขัด ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 4-20 วัน ออกอาการหลังติดเชื้อ 7 วัน และจะเสียชีวิตภายใน 7-10 วัน ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่กว่าจะรู้หมูก็เริ่มตาย และแพร่กระจายทั้งฟาร์ม

ASF ไม่ได้เป็นโรคที่อันตรายต่อคน โดยในไทยจะแพร่ระบาดผ่านสัตว์พาหะ เช่น สุนัข แมว นก หนู ปนเปื้อนมาตามร่างกายของมนุษย์ เลือดของหมูติดเชื้อไวรัส และปนเปื้อนในเนื้อหมู ส่วนแนวทางการรักษายังไม่มี หากพบเชื้อต้องทำลายทันที แต่การป้องกันทำได้ผ่านการสร้างระบบความปลอดภัยทางชีวภาพอาทิ ห้ามนำเนื้อหมู หรือผลิตภัณฑ์เนื้อหมูนอกฟาร์มเข้าในฟาร์ม ให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข อาบน้ำ ทำความสะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเข้าพื้นที่ฟาร์ม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อASF 

สำหรับความแตกต่างของโรค ASF กับโรคอหิวาต์สุกร (Classical Swine Fever: CSF) แม้จะมีหน้าตาคล้ายกัน แต่ CSF มีวัคซีนป้องกัน ส่วน ASF แม้จะแพร่ระบาดช้ากว่า แต่ลุกลามง่ง่ายกว่า และไม่มีวัคซีนป้องกัน 

น.สพ.พิชัย แนะว่า ประชาชนทั่วไปเบาใจได้เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อสู่คน ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูต้องเฝ้าระวังโรค และเฝ้าสังเกตอาการของหมู รวมทั้งต้องมีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bio Security) ที่ดีการแพร่ระบาดของ ASF แทบจะคล้ายกับโรคโควิด-19 ในคน เชื่อว่า หากร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วนก็จะผ่านพ้นไปได้

Related Posts

Send this to a friend