กอปภ.ก. ประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และ PM 2.5 พื้นที่ภาคเหนือ
วันนี้ (15 ก.พ. 66) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุม กองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ผ่าน ระบบ Web Conference ร่วมกับ นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 12 หน่วยงาน และผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงกองทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขตทุกเขต ทั้งนี้เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พร้อมกับบูรณาการสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งภาคพื้นดิน/ทางอากาศ รวมถึงการติดตามสภาพอากาศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตลอดจนการวิเคราะห์การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ และบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
นายบุญธรรม เปิดเผยว่า “ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาไฟป่า หมอกควัน และสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปภ.ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยข้อมูลจาก GISTDA พบว่า ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่หลายจังหวัด เนื่องจากมีการจุดไฟเพื่อชิงเผาก่อนช่วงห้ามเผา (15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป)
โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง อาทิ ตาก ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ จึงทำให้ช่วงนี้มีจุดความร้อนเกิดขึ้นกระจายทั่วไปตามพื้นที่ต่างๆ จำนวนกว่า 2,166 จุด โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณควันสะสม ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์จุดความร้อนกับปีที่แล้ว พบว่าในภาพรวมปี 2565 มีจุดความร้อนประมาณ 23,900 จุด (ตั้งแต่ 1 มกราคม – 1 พฤษภาคม 2565) ส่วนในปี 2566 (ตั้งแต่ 1 มกราคม-ปัจจุบัน) มีจุดความร้อน 15,400 จุด คิดเป็น 64% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะพื้นที่ภาคเหนือสถานการณ์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การประชุมวันนี้จึงเป็นการติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมคาดการณ์สภาพอากาศ ในระยะต่อไปที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) รวมถึงวิเคราะห์การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ควบคู่กับมาตรการ/แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2566 ตลอดจนบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือตามข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกั นและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) การประสานการปฏิบัติในด้านการป้องกัน และลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ มลพิษจากการเผาในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร มลพิษจากการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผา การตรวจจับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ และแนวทางการดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง ที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
“สถานการณ์ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเพิ่มความเข้มข้น ในการปฏิบัติตามมาตรการ ที่ระบุไว้ในแผนทั้งการปฏิบัติงานของหน่วยหลักและหน่วยสนับสนุน ในส่วนของพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด บูรณาการการทำงานในทุกมิติครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์ การตอบโต้ และการเผชิญเหตุเมื่อเกิดสถานการณ์ โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์อำนวยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 ได้มีการบูรณาการการทำงานกันอย่างเต็มกำลัง”
“ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอให้เข้มข้นในการปฏิบัติ ตามประกาศเขตห้ามเผาเพื่อควบคุมการเผาในที่โล่ง รวมถึงการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และขอให้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชน ร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งข้อมูลในกรณีเกิดการเผา โดยใช้กลไกของปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงช่องทางที่แต่ละจังหวัดกำหนด ซึ่งในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีช่องทาง Official LINE @1784DDPM ให้ประชาชนที่พบเห็นสถานการณ์ไฟป่า หรือได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือ ได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM หรือสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการแก้ไขปัญหา และให้ความช่วยเหลือต่อไป”