POLITICS

กมธ.ต่างประเทศ เผย 4 ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหาผีน้อยใน เกาหลี-ญี่ปุ่น

กมธ.ต่างประเทศ เผย 4 ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหาผีน้อยใน เกาหลี-ญี่ปุ่น ลั่นไม่เห็นด้วยการผลักดันเด็กไร้สัญชาติกลับเมียนมา ชี้ขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

วันนี้ (28 มี.ค. 67) กรรมมาธิการการต่างประเทศ แถลงประเด็นแรงงานไทยในเกาหลี ญี่ปุ่น และกรณีเด็กไร้สัญชาติ จำนวน 19 คน ที่อาจถูกผลักดันกลับเมียนมา โดยนายนพดล ปัทมะ ในฐานะประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่า กรณีแรงงานชาวไทยเข้าไปทำงานโดยผิดกฎหมายในประเทศเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น (ผีน้อย) ซึ่งในเกาหลีใต้มีแรงงานที่ถูกกฎหมาย 40,000 คน ผิดกฎหมายประมาณ 140,000 คน และในญี่ปุ่นมีแรงงานถูกกฎหมาย 8,000 คน ผิดกฎหมายประมาณ 40,000 คน ซึ่งการเข้าไปทำงานที่ผิดกฎหมาย กระทบต่อทั้งกับสวัสดิภาพของคนงาน และ ภาพลักษณ์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ กมธ.การต่างประเทศได้เชิญผู้แทนกระทรวงแรงงาน เช่น ผู้ตรวจราชการกระทรวง อธิบดีกรมการจัดหางาน และ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เช่น กรมเอเชียตะวันออก และกรมการกงสุลมาให้ข้อมูล โดย กมธ.มีความเห็นและข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ดังนี้

1.การแก้ไขปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในต่างประเทศอย่างยั่งยืนนั้น ต้องทำโดยการหาตลาดให้แรงงานไทยให้มีตำแหน่งงานมากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการไปทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นทุกปี

2.ผลักดันการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกกฎหมายให้มากขึ้น โดยรัฐบาลควรเร่งเจรจากับทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพื่อเพิ่มโควต้าการไปทำงานที่ถูกกฎหมาย การไปทำงานโควต้าภาครัฐปัจจุบันเกาหลีใต้มีเพียง 8,500 คน และญี่ปุ่น 1,200 คน นอกจากนั้น ควรลดความยุ่งยาก เงื่อนไข ขั้นตอน การเข้าไปทำงานอย่างถูกกฎหมายสำหรับแรงงานไทย เช่น การลดเงื่อนไขด้านภาษา และควรสนับสนุนบริษัทจัดหางานภาคเอกชนในการส่งออกแรงงานมากยิ่งขึ้น

3.ผลักดันการนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายหรือผีน้อยที่ไม่มีสวัสดิการแรงงานตามกฎหมาย โดย กมธ. เสนอให้รัฐบาลเจรจากับฝ่ายเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายดังกล่าว เช่น ให้สามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่ถูกส่งกลับ และไม่มีประวัติการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งให้ได้รับสวัสดิภาพและสวัสดิการด้านแรงงานที่เหมาะสม

4.ประเด็นที่มีข่าวว่าญี่ปุ่นอาจทบทวนการยกเลิก Visa-Free นั้น ในขณะนี้ คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นปีละประมาณ 1,000,000 คนเศษอยู่เกินวีซ่าประมาณ 10,000 คนเศษ กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่ามีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงระหว่างญี่ปุ่นและไทย โดยฝ่ายไทยจะเพิ่มมาตรการการประชาสัมพันธ์มิให้มีการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ร่วมมือกับสายการบิน บริษัททัวร์ ควบคุมดูแลไม่ให้มีการหนีทัวร์ และอยู่เกินวีซ่า รวมทั้งจับกุมนายหน้าหางานเถื่อน เพื่อลดจำนวนคนที่อยู่เกินวีซ่า (Overstay) เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประเทศปลายทาง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อคนไทยส่วนใหญ่ที่ต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่นโดยไม่ต้องมีวีซ่า และหวังว่าญี่ปุ่นจะพิจารณามาตรการที่ฝ่ายไทยจะดำเนินการด้วยดี

ส่วนกรณีเด็กไร้สัญชาติ จำนวน 19 คน ที่อาจถูกผลักดันกลับเมียนมานั้น ขณะนี้อยู่ที่จังหวัดเชียงราย นายนพดล กล่าวว่า กมธ.การต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยในการผลักดันเด็กดังกล่าวกลับเมียนมา เนื่องจาก

1.การผลักดันเด็ก ไม่ว่าจะมี หรือไร้สัญชาติอาจฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 เพราะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การสงเคราะห์เด็กดังกล่าว อาจเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย สิทธิเด็ก (UN Conventions on the Rights of the Child)

2.รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเรื่องจุดมนุษยธรรมที่แม่สอด เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในเมียนมา ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของไทยอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค กมธ. เห็นว่าการผลักดันเด็ก 19 คนกลับเมียนมา น่าจะเป็นการกระทำที่สวนทาง และกระทบต่อหลักการ ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

3.การคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติมิเพียงแต่เป็นการดำเนินการทางมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของประเทศ ทำให้ไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างาม

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลไทยจะมีการดำเนินการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างไร จากกรณีที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union; KNU) หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า มีคนจากรัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) เข้ามาในพื้นที่ส่งมอบความช่วยเหลือโดยไม่คาดคิด นายนพดล ตอบว่ามีการแทรกแซงอย่างไรต้องกลับไปดูตามข้อเท็จจริง ตอนนี้คณะกรรมการยังไม่มีข้อเท็จจริงที่จะยืนยัน แต่เบื้องต้นเห็นหลักการการช่วยเหลือในพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรม ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เราก็สนับสนุนรัฐบาลในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อในอาเซียน

Related Posts

Send this to a friend