POLITICS

ผศ.ดร.ปริญญา ฟันธง ‘ตู่-ป้อม-อิ๊งค์’ ตัวจริงชิงเก้าอี้นายกฯ หวัง ส.ว. โหวตตามมหาชน

วันนี้ (28 มี.ค. 66) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “เลือกตั้ง 66: อนาคตประเทศไทยและก้าวต่อไปของสิทธิมนุษยชน” ในงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

รัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติถึงหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาไม่มีความผิด (Presumption of Innocence) จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้ไม่ถูกจับกุมด้วยความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจรัฐ

แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับมีการกำหนดให้นำรายชื่อและประวัติผู้ต้องหาทุกคนบันทึกลงในทะเบียนประวัติอาชญากร หากอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลยกฟ้อง รอลงอาญา หรือแค่โทษปรับ ผู้ต้องหาต้องไปทำเรื่องนำออกเอง ซึ่งไม่ใช่การลบทิ้ง แต่คัดแยกเอาไว้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงกลับกันเป็นสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด (Presumption of Guilt)

“ศาลมักจะเชื่อตำรวจและอัยการมากกว่าด้วย โดยลืมไปว่ามีทำหน้าที่ตาม Judiciary (ตุลาการ)” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว ก่อนยกตัวอย่างผู้พิพากษาที่ยิงตัวตายในห้องพิจารณาคดี กับผู้พิพากษาที่ถอนหมายจับ ส.ว.ทรงเอ ตามคำอภิปรายของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม

ต่อมา ผศ.ดร.ปริญญา ยังได้กล่าวถึงการใช้อำนาจออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตามที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เสนอให้เลื่อนไปถึงวันที่ 1 ต.ค. 66 ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะ ผบ.ตร. ต้องการให้เลื่อนออกไปพ้นระยะเวลาราชการของตนเอง เนื่องจากจะเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย. 66

แต่ในทางการเมือง ผศ.ดร.ปริญญา เห็นศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องวินิจฉัยร่าง พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวแล้ว แต่อาจมีฉากทัศน์ที่แปลกประหลาดเกิดขึ้นได้ คือแม้ตุลาการเสียงข้างมากอย่าง 5 ต่อ 3 เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถึง 2 ใน 3 ตามกฎหมายกำหนดอยู่ดี อย่างไรก็ตาม หากวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญจนต้องนำเข้าสู่วาระสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ตั้งแต่เริ่มมีรัฐบาลสมัยใหม่ทันที

“ถ้าจะพูดในเชิงกระบวนการ ประเทศไทยต้องการศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงศาลยุติธรรมอื่นด้วย ที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญไทยคือที่มา ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มาจากสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น ครั้งนี้ต้องมาดูความเห็นและการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญต่อการวินิจฉัย พ.ร.ก.เลื่อน พ.ร.บ.อุ้มหายฯ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา มองว่า สำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ไม่พ้น 3 คนนี้ ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย แต่นายกฯ ของพรรคเพื่อไทย อาจไม่ใช่นางสาวแพทองธาร แต่เป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ก็เป็นได้ แต่ไม่ใช่นายชัยเกษม นิติสิริ ที่เป็นแคนดิเดตคนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย โดยไม่ใช่เซอร์ไพรส์ อย่างที่เป็นเมื่อปี 2562 คงจะเป็นรายชื่อเพียงข้างต้นแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ปริญญา ยังทิ้งท้ายถึงปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยว่า แม้จะได้รับเลือกตั้ง ส.ส. จนได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือรวมเสียงกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมจนเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังมีปัญหาคือ ส.ว. ที่มีอำนาจในการจะเป็นนายกฯ ด้วย และจะมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบต่อผู้ดำรงตำแหน่งอีกหลายองค์กรหลังจากนี้

“ครั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ ไม่มีเสียงเท่าเดิมได้อีก เพราะแยกกับ พลเอก ประวิตร ปัญหาการใช้เงินจึงหนักในครั้งนี้ และหากจะอาศัยเสียง ส.ว. ปัญหาก็จะยิ่งหนักต่อไปอีก ดังนั้น เพื่อให้ไปสู่อนาคตได้ ส.ว. จึงต้องโหวตเลือกนายกฯ ตามเสียงของประชาชน” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend