POLITICS

กกต.เปิดเกณฑ์ 180 วันก่อนเลือกตั้งอะไรทำได้-ไม่ได้

ส.ส.ร่วมงานศพ-งานประเพณีได้ แต่ห้ามใส่ซอง ระวังป้ายต้อนรับ-ขอบคุณอาจเข้าข่ายผิด กม.

วันนี้ (27 ก.ย.65) นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อชี้แจงแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และระเบียบว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงในระยะเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ผ่านระบบออนไลน์โปรแกรม Zoom Cloud Meeting

นายแสวง ชี้แจงว่า ระเบียบของ กกต.ไม่ว่าจะระเบียบใดออกเพื่อความเที่ยงธรรมให้พรรคการเมืองปฏิบัติด้วยความเท่าเทียมกัน โดยการหาเสียงมีมาตรฐานเดียวกัน ต่างกันเพียงเงื่อนเวลา ถือเอาอายุของสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก ส่วนกรอบเวลา 180 วัน ก่อนวันครบอายุของสภาผู้แทนราษฎร (23 มี.ค.66) ก็เป็นไปตามกฎหมายกำหนด สำหรับเกณฑ์ที่ใช้ในการหาเสียง แบ่งเป็น 3 ส่วน

ระเบียบของพรรคการเมืองและผู้สมัคร ประกอบด้วย
1.ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถไปร่วมงานประเพณี เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพได้ สามารถมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ต้องไม่ให้เงิน หรือมอบทรัพย์สินต่าง ๆ ยกเว้นเจ้าภาพจัดเจรียมสิ่งของไว้ให้มอบในงาน โดยไม่ใช้เงินของผู้สมัคร หรือระบุชื่อเป็นประธานในงาน โดยผู้สมัครไม่ได้มีการมอบเงินตนเอง โดยเจ้าภาพต้องไม่กล่าวชื่อ หมายเลขผู้สมัคร
2.ผู้สมัครที่มีความจำเป็นต้องจัดงานในช่วงนี้ สามารถจัดได้เท่าที่จำเป็น แต่ต้องหลีกเลี่ยงการจัดงานขนาดใหญ่ เพราะอาจเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านว่า จัดให้มีมหรสพเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง
3.หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งได้ แต่ห้ามจัดหา หรือนำคนไปช่วยหาเสียงแบบมีค่าตอบแทน
4.ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมืองสามารถหาเสียงในสถานที่ต่าง ๆ ได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน
5.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เช่น เหตุอัคคีภัย หรือโรคระบาด
6.ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองสามารถปิดแผ่นป้ายเลือกตั้ง โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน และสถานที่ตามที่กำหนดในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด สำหรับแผ่นป้ายที่ติดไว้ก่อนแล้ว ต้องแก้ไขให้เป็นไปตามขนาดและสถานที่ที่กำหนดไว้
7.ในการหาเสียง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 อย่างเคร่งครัด

ระเบียบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประกอบด้วย
1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การออกรายการวิทยุโทรทัศน์ แต่ห้ามมิให้อาศัยตำแหน่งกระทำการหาเสียงเลือกตั้งให้ตนเอง และผู้อื่น
2.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถไปร่วมงานประเพณีต่าง ๆ ได้ แต่ต้องไม่มีการให้เงิน หรือทรัพย์สิน กรณีเจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของพิธีการไว้ให้มอบในงาน โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มอบเงิน สามารถกระทำได้ แต่เจ้าภาพจะประกาศชื่อหาเสียงให้ไม่ได้
3.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการมือง สามารถหาเสียงนอกเวลาราชการให้ตนเองและผู้สมัครอื่นได้ แต่ต้องมิใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

  1. ส.ส.และกรรมาธิการ สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติ

ระเบียบของหน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วย

  1. หน่วยงานของรัฐ สามารถดำเนินหน้าที่ได้ตามปกติ เช่น การประชุมสัมมนา ประกวดแข่งขัน งานเทศกาลประเพณี โดยให้พนักงานในสังกัด ให้ความสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
    2.ให้พนักงาน ข้าราชการ ลูกจ้างทุกระดับ วางตัวเป็นกลางทางการเมือง
    3.นับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนถึงการเลือกตั้ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพนักงานให้ทำเท่าที่จำเป็น
    4.ให้ข้าราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น สนับสนุนสถานที่ปิดป้ายประกาศเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง
    5.การทำเอกสารของรัฐมนตรี ปฏิทินที่มีรูปรัฐมนตรีต้องทำในนามหน่วยงาน ระวังไม่ให้เข้าข่ายหาเสียงเลือกตั้ง
    6.การทำป้ายต้อนรับ ข้าราชการที่มาปฏิบัติหน้าที่ ให้พึงระวังไม่ให้เข้าข่ายผิดกฎของการเลือกตั้ง ส่วนรัฐมนตรีไม่สามารถทำป้ายขอบคุณได้ เพราะอาจขัดกับมติ ครม.ที่ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

นายแสวง ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดทำประกาศและแผ่นป้ายหาเสียง ไว้ดังนี้
1.กำหนดให้เป็นแนวตั้ง 30 x 42 เซนติเมตร หรือขนาด A3
2.กำหนดให้มีขนาดไม่เกิน 130 x 275 เซนติเมตร
3.ต้องระบุชื่อสกุลของผู้ว่าจ้าง จำนวนที่ผลิต และผู้ผลิตอย่างชัดเจนไว้บนป้าย
4.การติดแผ่นป้ายที่พรรคการเมือง สามารถติดได้ 1 แผ่น ขนาด 400 x 750 เซนติเมตร
5.พรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไว้ยื่นในบัญชีรายรับและรายจ่าย ส่วนสติ๊กเกอร์สามารถทำได้ แต่ให้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

Related Posts

Send this to a friend