วุฒิสภา มีมติเอกฉันท์ ผ่าน พ.ร.ก.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาแล้ว

วุฒิสภา มีมติเอกฉันท์ ผ่าน พ.ร.ก.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาแล้ว ขณะ ผู้ว่าฯ กกท. ยืนยัน บอร์ดของ กกท. ไม่สามารถแทรกแซงในเชิงปฏิบัติได้ ต้องอยู่ในกรอบและระเบียบสากลของวาดา
วันนี้ (24 ม.ค. 65) ที่ประชุมวุฒิสภา โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณาและอนุมัติ ด้วยเสียงเอกฉันท์ กับพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับ คือ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่7) พ.ศ.2564 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ.2555 พ.ศ.2564
สำหรับ พ.ร.ก.แก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามฯ นั้น มีส.ว. ได้อภิปรายเสนอแนะต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการเขียนเนื้อหาที่อาจมีผลในทางปฏิบัติของประเทศ ต่อการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติตามกฎของวาดา โดย พล.อ.ต.นพ.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายว่า สำหรับการกำหนดคำนิยาม ในประเด็นบุคคลซึ่งสนับสนุนการกีฬา ที่เพิ่มให้รวมถึง บิดา หรือมารดาของนักกีฬา หรือบุคคลอื่นที่ให้การรักษาให้ความช่วยเหลือหรือทำงานร่วมกับนักกีฬาที่ร่วมการแข่งขันกีฬา ซึ่งตนมองว่าบิดา หรือ มารดานั้น อาจไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งอาจมีผล กรณีที่บิดาหรือมารดาของนักกีฬาที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งใช้ยาลดความดัน ที่เป็นหนึ่งในยาที่ประกาศห้ามใช้เพราะถือเป็นสารต้องห้าม ที่จะมีผลต่อการลดความตื่นเต้น หรือการสูบฉีดเลือดของนักกีฬาที่ต้องใช้สมาธิ เช่น สนุ๊กเกอร์ ดังนั้น หากบทบัญัติดังกล่าวเขียนครอบคลุมไปถึงบิดามารดาที่ทางการไทยไปเติมเองนั้นไม่เหมาะสม ทั้งนี้ การกำหนดให้มีสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา เป็นหน่วยงานในการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) อาจมีประเด็นปัญหาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่และไม่ตรงกับกฎของวาดา
ขณะนายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ชี้แจงกรณีความเป็นอิสระขององค์กรควบคุมสารต้องห้าม โดยยืนยันว่า บอร์ดของ กกท. ไม่สามารถแทรกแซงในเชิงปฏิบัติได้ และการใช้อำนาจนั้น ไม่สามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจ อยู่ในกรอบและระเบียบสากลของวาดา ทั้งนี้วาดาไม่ได้ระบุถึงการแยกเป็นองค์กรอิสระ แต่หากวาดามีข้อสังเกตเพิ่มเติม จะพิจารณาอีกครั้งในเวทีสากลของวาดาที่จะจัดในปี65 นี้
ดังนั้น กรรมการอิสระจะเสนอเรื่องเวียนไปยังบอร์ดบริหารวาดาพิจารณา และวันสุดท้ายที่จะเวียนคือ 2 กุมภาพันธ์และหากบอร์ดบริหารของวาดาเห็นสอดคล้องกับกรรมการอิสระ ประเทศไทยจะถูกปลดออกจากบัญชีรายชื่อที่ไม่ปฏิบัติตามของวาดา และโทษทั้ง 4 ข้อจะยกให้ประเทศไทยทั้งหมด ส่วนคำนิยามนั้นเป็นไปตามกฎของวาดา