BUSINESS

เครือข่ายแรงงาน เรียกร้องรัฐปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เท่ากันทั่วประเทศ

วันนี้ (24 ม.ค. 65) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกแถลงการณ์เรื่อง “สินค้าราคาแพง ขอปรับค่าแรงและให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้า” โดยระบุว่า ปัจจุบันราคาสินค้าอุปโภค บริโภค สาธารณูปโภค ไม่เว้นแม้แต่สาธารณูปการ ปรับราคาสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนงานและประชาชนทุกสาขาอาชีพ

ขณะที่ช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลได้มีนโยบายสั่งการให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน ปรับวิธีการทำงาน โดยพนักงาน ลูกจ้าง ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ จำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) และให้นักเรียนนักศึกษาเรียนออนไลน์ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจึงตกอยู่กับประชาชน ครอบครัว ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอินเตอร์เน็ต และอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก

แรงงานจำนวนไม่น้อยถูกเลิกจ้าง ตกงาน ขาดรายได้ ไร้อาชีพ อยู่ในภาวะเดือดร้อนถ้วนหน้า แม้รัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ แต่ก็เป็นเพียงระยะสั้นๆ เกษตรกรรายย่อยต้องเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ราคาผลผลิตที่พอจะผลิตขายเลี้ยงชีพก็ตกต่ำ ความหวังเดียวที่เหลืออยู่คือรอเงินจากสามี ภรรยา ลูก หลาน ที่เข้ามาขายแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ แต่ค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ การทำงานระยะสั้น ไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไร้หลักประกัน ทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ จึงไม่สามารถจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัวได้เพียงพอ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงยื่นข้อเสนอให้แก่รัฐบาลแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ครอบคลุมเรื่อง ให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้าง ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินไป สร้างหลักประกันการทำงาน ความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน มาตรการประกันสังคมที่เป็นธรรมแก่คนทำงาน ให้ใช้รัฐวิสาหกิจเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ให้รัฐบาลวางนโยบายในการจ้างงาน ให้ช่วยเหลือเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น

แต่ที่สุดแล้ว รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดได้ เมื่อไม่มีทางเลือกอื่นข้อเสนอที่จำเป็นต้องทำคือ ขอให้รัฐบาลประกาศปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยค่าจ้างที่เสนอในปีนี้เป็นตัวเลขและข้อมูลที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำการสำรวจจากคนงานในพื้นที่ต่างๆ ครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 3,000 คน ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายรายวันที่เป็นค่าอาหาร 3 มื้อ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายรายเดือน ประกอบด้วย ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเลี้ยงดูครอบครัว บุพการี เป็นตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 492 บาท แต่หากจะให้มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัว ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จะอยู่ที่ 712 บาทต่อวัน โดยข้อมูลตัวเลขที่กล่าวมา เป็นตัวเลขปี 2560

ด้วยข้อกังวลในเงื่อนไขและสถานการณ์ต่างๆ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกัน สรุปเป็นตัวเลขการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2565 ในราคาวันละ 492 บาท ให้เท่ากันทั้งประเทศและให้รัฐบาลประกาศโครงสร้างค่าจ้างเพื่อสะท้อนการปรับค่าจ้างในแต่ละปีอย่างเป็นระบบ ซึ่งการปรับค่าจ้าง จะช่วยเพิ่มรายได้ สร้างกำลังซื้อ สร้างกำลังการผลิต เกิดการไหลเวียนทางเศรษฐกิจ รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายเพื่อนำไปเป็นงบประมาณพัฒนาประเทศ นั้นหมายถึงผลดีที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย จึงเป็นเหตุผลสมควร “ปรับค่าจ้าง 492 บาทเท่ากันทั้งประเทศเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียม”

Related Posts

Send this to a friend