POLITICS

‘ดร.ยุ้ย’ เล็งใช้งบฐานศูนย์พัฒนากทม.ปี67 ตั้งเป้า ”กรุงเทพเมืองน่าอยู่”

‘ดร.ยุ้ย’ ลุยเซ็ทระบบขับเคลื่อน งบประมาณฐานศูนย์ หรือ Zero-Based Budgeting ทดสอบใช้ในโครงการปี 67 ดึง OKR กลไกประเมินผล รับกระแสการเปลี่ยนทั้งปัจจุบันและอนาคต เพิ่มประสิทธิภาพใช้งบ ตอบโจทย์ สร้างประโยชน์คนกรุงเทพในทุกด้าน ตามนโยบาย ผู้ว่า ดัน “กรุงเทพเมืองน่าอยู่ของทุกคน”

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ประธานที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และงบประมาณ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า แผนการขับเคลื่อนการนำหลักการงบประมาณฐานศูนย์ “Zero-Based Budgeting” ที่จะไปใช้กับโครงการต่างๆภายใต้งบประมาณประจำปีของ กทม. คาดว่ากระบวนการจะเริ่มต้นใช้ในบางโครงการ ในปีงบประมาณปี 2567และใช้การครอบคลุมการจัดทำงบประมาณปี 2568 ควบคู่ไปกับการเริ่มต้นใช้การวัดผล การจัดทำ OKR (Objective and Key Results) หรือ เครื่องมือในการตั้งเป้าหมายและกำหนดตัววัดผล คือ การคิดแบบติดตามผลลัพธ์ (Result Based) มากกว่า การประเมินตามแนวทางรูปแบบเดิม ที่บางครั้งไม่สามารถตอบสนองต่อการเพิ่มประสิทธิภาพและการพัฒนาเมืองในช่วงที่เราต้องเผชิญกับการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การจัดสรรงบประมาณประจำปีของกทม. ที่มี 50 เขต 20 สำนัก ที่ผ่านมามักจะอ้างอิงกับงบประมาณของปีก่อน โดยปกติจะจัดทำล่วงหน้า 1-1.5 ปี ก่อนปีงบประมาณจริงเราเพิ่งเข้ามาทำงานได้ราว 100 กว่าวันจึงเข้ามาในช่วงที่การจัดทำงบปี’66 เสร็จแล้ว สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ คือ การดูงบประมาณอะไรที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับนโยบายของเราได้ ซึ่งบประมาณของ กทม. จะถูกจัดสรรเป็น 5 ประเภท คือ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบลงทุน งบเงินอุดหนุน และงบรายจ่ายอื่นๆ ซึ่งหากดูแล้วงบทั้ง 5 ประเภทนี้ ที่จะนำมาทำได้ตามยุทธศาสตร์ ก็คือ งบลงทุน และงบรายจ่ายอื่นๆ ส่วนงบอื่นๆ จะเป็นงบที่ค่อนข้างคงที่และดีอยู่แล้ว” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว

การจัดสรรงบประมาณแบบอ้างอิงปีที่ผ่านมานี้มีข้อดี คือ สะดวก และง่าย แต่ข้อเสีย คือ เราไม่ได้คิดใหม่ แต่เมื่อทุกวันนี้โลกมีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องอาศัยการจัดสรรงบประมาณแบบ Zero-based budgeting โดยที่ทุกโครงการในการใช้งบประมาณจะเริ่มต้นใหม่จากศูนย์ แล้วคิดต่อยอดในการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดต้องทำกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่สำหรับทุกคน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กทม. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ ปี 2565-2570 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ คือ การนำนโยบาย 9 ดี ที่เคยใช้หาเสียงมาประยุกต์ใช้กับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ด้วยการปรับเปลี่ยนและแก้ไขแผนบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย 216 ข้อ ของผู้ว่าฯ กทม. เพื่อนำมาจัดทำงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์กทม.ฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งงบยุทธศาสตร์กทม. นี้จะอยู่ในส่วนของงบการลงทุนและงบรายจ่ายอื่นๆ คาดว่าในปี 2567 จะเป็นปีแรก ที่สามารถดำเนินงานตามแผนของเราได้ 100%

การจัดทำงบ Zero-based budgeting เป็นการส่งเสริมให้คิดแบบเพิ่มประสิทธิภาพ (Effigency) ในการใช้งบประมาณที่เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน เป็น 1 ในนโยบายการบริหารจัดการ 9 ดี ของผู้ว่าฯ กทม. เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ก็คือ การบริหารจัดการดี โดยทำงานเท่าเดิมแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือทำงานน้อยกว่าเดิมแต่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม หรือทำงานเท่าเดิมแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและใช้เงินน้อยลง ดังนั้น เราจะต้องหาวิธีในการขับเคลื่อนชาวกทม.ให้มีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการที่ดีในที่นี้ หมายความว่าการใช้งบประมาณที่ถูกต้องและเหมาะสม

ดร.เกษรา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จำเป็นต้องปรับวิธีคิด หรือ Mindset ของคน กทม.ในการทำงาน ต้องทำให้เกิดความเชื่อว่าถ้าทำแล้วทุกคนจะได้รับประโยชน์ เป็นผลดีต่อตัวเองและหน่วยงาน เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตามการทำงานทุกนโยบายจะมองจากประชาชนเป็นหลัก และแม้ว่าจะไม่ใช่นโยบาย 216 ข้อ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ทำแล้ว ทำให้คนกทม. เกิดความน่าอยู่ก็ต้องทำ เพียงแต่เราอาจจะไม่สามารถเริ่มทุกงานในเวลาเดียวกันได้ เพราะทุกงานต้องใช้เงิน ดังนั้นเราต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบว่าด้วยงบประมาณและเวลาที่จำกัด ต้องมีการจัดลำดับเรื่องที่ต้องทำก่อนหลังให้ชัดเจนเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้จริง

Related Posts

Send this to a friend