POLITICS

นายกฯ มอบนโยบายส่วนราชการด้านความมั่นคง พัฒนา โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายกฯ มอบนโยบายหน่วยงาน กอ.รมน. และส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องไปสู่การปฏิบัติ หวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงยิ่งขึ้นในงานรักษาความมั่นคง และงานพัฒนา โดย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทำให้ประเทศไทยปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (22 ธ.ค. 65) เวลา 09.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครั้งที่ 1/2565 และเป็นประธานสรุปผลการปฏิบัติงานและแถลงแผนการปฏิบัติงานประจำปีของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อให้ผู้บริหาร กอ.รมน. (ส่วนกลาง) กอ.รมน.ภาค กอ.รมน.จังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง

รับทราบผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แผนการปฏิบัติงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และนำนโยบายนายกรัฐมนตรียึดเป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านความมั่นคง คณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร คณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงของรัฐวุฒิสภา หัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคง ผอ.รมน.ภาค ผอ.รมน.จังหวัด และผู้บริหารของ กอ.รมน. เข้าร่วมงาน

ภายหลังการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินการของ กอ.รมน. ที่ผ่านมาซึ่งเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจนและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และโดยรวมของประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (ภาคเหนือโมเดล) ตามการขับเคลื่อน BCG Model ของรัฐบาล แอปพลิเคชันแผนที่สถานการณ์ร่วม (Common Operation Map: COM) การสร้างเครือข่ายเยาวชน ตามศาสตร์พระราชาในศูนย์การเรียนรู้ สู่การสร้างอาชีพ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลดงขี้เหล็ก ตำบลต้นแบบ ของจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้วิสัยทัศน์ตำบลดงขี้เหล็ก “ดงขี้เหล็กน่าอยู่ เชิดชูคุณธรรม เลิศล้ำการเกษตร เป็นเขตท่องเที่ยว”

โดยนายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการดำเนินงานของ กอ.รมน. ที่บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนจนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย พร้อมแนะนำให้มีการศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นระหว่างกัน เพื่อสามารถนำปรับใช้ได้ให้สอดคล้องกับบริบทและศักยภาพของแต่ละพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในระดับพื้นที่และโดยรวมอย่างแท้จริง

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายหน่วยงาน กอ.รมน. และหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง โดยกล่าวในฐานะนายกรัฐมนตรี และ ผอ.รมน.ว่า มีความคาดหวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงยิ่งขึ้นไป ทั้งในงานรักษาความมั่นคง เพื่อสนับสนุนแผนงานต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และงานพัฒนา ที่สอดรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยที่จะต้อง “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีมอบแนวทางการทำงานร่วมกัน ในปีงบประมาณ 2566 ด้วยหลักการ “5 ป” ได้แก่ (1) “ป1” คือ ขอให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น เรื่อง “ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ การทำงานใกล้ชิดกับประชาชน และรับฟังเสียงของประชาชน แล้วแปลงไปสู่แผนการปฏิบัติ ทั้งใน มิติการพัฒนา มิติความมั่นคง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

รวมทั้ง กอ.รมน. ต้องสร้างศรัทธา ความเชื่อมั่น และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อสาธารณชน โดยการทำงานที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ ตลอดจนใช้จ่ายงบประมาณตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายต่าง ๆ โดยเคร่งครัด มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ประหยัด คุ้มค่า ตรวจสอบได้ด้วยการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ “ITA” (ไอ-ที-เอ)

(2) “ป2” คือ ต้องปฏิรูปการทำงาน ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การแก้ปัญหา และการให้บริการประชาชน ทั้งยกระดับการทำงานภายใน กอ.รมน. เอง และการสนับสนุนงานของรัฐบาลในภาพรวมด้วย เช่น การแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนนั้น รัฐบาลได้พัฒนา “ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า” หรือ TPMAP (ที-พี-แม็ป) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อม ๆ กันทั้ง 5 ด้าน คือ รายได้ การศึกษา สุขภาพ ความเป็นอยู่ และการเข้าถึงบริการภาครัฐ ตลอดจนนโยบายอื่น ๆ เช่น การแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน โครงการเพชรในตมที่เน้นพัฒนาคน-เด็กด้อยโอกาสด้วยการศึกษา เป็นต้น โดยขอให้ทุกส่วนราชการให้ความสำคัญ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยยึดหลัก“อยู่รอด ปลอดภัย พอเพียง ยั่งยืน” เพื่อการเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

(3) “ป3” คือ การทำงานอย่างประสานสอดคล้อง และเชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน อย่างไร้รอยต่อ มุ่งขยายเครือข่ายประชาชน และกระชับกลไก “ประชารัฐ” ทั่วประเทศ ตลอดจนเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ ในฐานะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยเฉพาะ “เครือข่ายข่าวภาคประชาชน” จะมีส่วนสำคัญในการ “ต่อหู เพิ่มตา” ในการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน ตลอดจนเติมเต็มฐานข้อมูลด้านการข่าวให้เป็นปัจจุบัน พัฒนาระบบสารสนเทศด้านการข่าวให้ทันสมัย และบูรณาการหน่วยในประชาคมข่าว รวมถึงปัญหาที่ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากชาติพันธมิตรด้วย เช่น การฉ้อโกงข้ามชาติ ยาเสพติดข้ามชาติ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ และบุคคลสองสัญชาติ เป็นต้น

(4) “ป4” คือ ขอให้ประยุกต์หลักการทรงงาน ศาสตร์พระราชา และหลักวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานได้เหมาะสมกับแต่ละภารกิจและสถานการณ์ เช่น เผยแพร่องค์ความรู้ “โคก หนอง นา โมเดล” ให้ประชาชนเข้าใจอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร ในการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่-น้ำ-ดิน การสำรวจและจัดทำข้อมูลแหล่งน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อยืนยันว่าแต่ละพื้นที่ควรจะปลูกพืชชนิดใด เป็นต้น โดยปัจจุบัน รัฐบาลได้ริเริ่ม “โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model” ที่มุ่งปฏิรูปกระบวนการปลูกข้าวของไทย ให้มีต้นทุนลดลง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้อยากให้ช่วยกันปลูกป่าในใจคน ผ่านโครงการ “ป่าชุมชน” ช่วยให้คนรักป่า -อยู่กับป่า เป็น Food Bank เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มคาร์บอนเครดิต ลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ลดมลภาวะเป็นพิษจากฝุ่นและหมอกควัน ตลอดจนรณรงค์ปลูกไม้ยืนต้น โดยเฉพาะไม้มีค่า ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย

(5) “ป5” คือ ให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์ โดยมุ่งสร้างการตระหนักรู้ ทำความเข้าใจ และแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้ช่องทางสื่อสารดั้งเดิม วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว ควบคู่เพิ่มช่องทางออนไลน์ สื่อโซเชียล บนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มากขึ้นด้วย เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีการปลูกฝังและถ่ายทอดแนวความคิดที่ไม่ดี และไม่เหมาะสมให้กับเยาวชนไทย ทั้งด้านการเมือง สถาบันหลักของชาติ ตลอดจนการเผยแพร่ Fake News ในสื่อโซเชียล ทำให้เกิดความเข้าใจผิด สร้างความแตกแยก รวมถึงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยฝ่ายตรงข้ามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ โดยเพิ่มการปลุกระดมเยาวชน แทนการใช้กำลังต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเร่งการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เชิงรุกในทุกแพลตฟอร์ม ใช้น้ำดี ไล่น้ำเสีย และสร้างภูมิคุ้มกันในสังคมให้เข้มแข็ง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังย้ำถึงกุญแจสู่ความสำเร็จ สำหรับ กอ.รมน. ว่า นอกจากการยึดหลัก “5ป” ข้างต้น เป็นแนวทางในการทำงานแล้ว การพัฒนาศักยภาพ บุคลากรของ กอ.รมน. ก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในเรื่องประสิทธิภาพ และคุณภาพการปฏิบัติงานในทุกระดับ อีกทั้งมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน สามารถขับเคลื่อนและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานอื่น ภาคส่วนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดีด้วย พร้อมขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันทำงานทุกภารกิจ รวมทั้งด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลให้สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยได้รับการยกระดับที่ดีขึ้นและพยายามยกระดับให้เป็นระดับที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

สำหรับผลการดำเนินการของ กอ.รมน. ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 1 นั้น กอ.รมน. ได้มีการขับเคลื่อนการรักษาความสงบภายในประเทศ ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนระดับที่ 2 ในประเด็นต่าง ๆ เช่น

(1) การเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ โดยขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ/ศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ

(2) การบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด กอ.รมน. ได้บูรณาการจัดตั้งศูนย์อำนวยการฯ ร่วมกับ ปปส. ในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการเข้าไปพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อป้องกันภัยจากยาเสพติดในหมู่บ้านแกนหลักทั้งสิ้น จำนวน 1,240 หมู่บ้าน

(3) การบริหารจัดการผู้หลบหนีเข้าเมือง กอ.รมน. ได้บูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขยายผลจับกุมขบวนการผู้นำพา จำนวน 2,626 คน และผู้ลักลอบเข้าเมืองได้มากกว่า 120,000 คน พร้อมกับสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน

(4) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ ได้จัดตั้งเครือข่ายประชาชนใน 17 จังหวัด เพื่อแจ้งเตือน/เฝ้าระวัง และเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ รวมถึงในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ที่ผ่านมา

(5) การแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยในปีนี้ ผลจากการจับกุมของทุกส่วนราชการมีมูลค่าถึง 173 ล้านบาท ส่งผลให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกาประกาศยังคงให้ไทยมีสถานะจับตามอง

(6) การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เน้นมิติด้านความมั่นคงและการพัฒนา การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7) การส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15) และการเติบโตทางเศรษฐกิจ รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.29) ฯลฯ

Related Posts

Send this to a friend