POLITICS

‘ชวน’ ส่งต่อแนวคิด “บ้านเมืองสุจริต” สู่เยาวชน แนะผู้กู้ กยศ.คืนเงินเพื่อรุ่นต่อไป

‘ชวน’ ส่งต่อแนวคิด “บ้านเมืองสุจริต” สู่เยาวชน เผยทำการเมืองมานาน รู้ด้วยตาตัวเอง บ้านเมืองเป็นอย่างไร หวั่นคนทำการเมืองเป็นธุรกิจ แนะผู้กู้ กยศ. คืนเงิน เพื่อรุ่นต่อไป

วันนี้ (2 ก.ย. 65) เวลา 09:00 น. ที่อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานเปิดงานโครงการส่งเสริมและปลูกฝังแนวคิดบ้านเมืองสุจริตไปสู่เยาวชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ และเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการประพฤติปฏิบัติตนเป็นสุจริตชนของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และครูอาจารย์ พร้อมทั้งบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ประเทศรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต” โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิต นักศึกษา และครูอาจารย์ในกทม. ภาคกลาง ภาคใต้และภาคเหนือ ประมาณ 200 คนเข้าร่วมงาน

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวบรรยายพิเศษตอนหนึ่งว่า เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยได้รับการเลือกตั้งต่อเนื่องมาถึง 16 สมัย จึงได้เห็นบ้านเมืองด้วยตาตนเองและประจักษ์ว่าบ้านเมืองเป็นอย่างไร หรือการเมืองเป็นเช่นไร มิใช่การรู้จากคำบอกเล่าของผู้อื่น โดยเมื่อปี 2512 ตนได้รับการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งสมัยนั้นเท่าที่ทราบยังไม่มีการใช้เงินเพื่อซื้อเสียงเลือกตั้ง แต่พบว่ามีผู้ลงสมัครเลือกตั้งบางคน บางจังหวัดแจกอาหารข้าวของให้ประชาชน

ในฐานะที่อยู่บนเส้นทางการเมืองมานานกว่า 50 ปี เคยดำรงตำแหน่งทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จึงเป็นห่วงบ้านเมืองว่านักการเมืองทำการเมืองแบบไม่สุจริต โดยเฉพาะในลักษณะของธุรกิจการเมือง คือการใช้เงินปูทางขึ้นมาสู่อำนาจ ซึ่งถือเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง และการทุจริตในลักษณะเช่นนี้ ย่อมเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชันในทุกระดับและในแทบทุกภาคส่วน เพราะนักการเมืองย่อมอาศัยกลไกในระบบบราชการและเครือข่ายในภาคส่วนธุรกิจ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้ามาถอนทุน ผลเสียหายต่อบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศย่อมมีมากมายมหาศาล

นายชวน กล่าวต่อว่า ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน จะต้องเริ่มต้นที่การสร้างบ้านเมืองให้สุจริต ไม่ใช่แค่ทำการเมืองให้สุจริตเท่านั้น แต่จำเป็นต้องกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคการเมือง ให้เห็นความสำคัญของการเมืองที่ยึดหลักคุณธรรมและหลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม นิติรัฐ หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า โดยขอเพิ่มหลักความไม่เกรงใจต่อสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไว้เป็นค่านิยมใหม่อีกข้อหนึ่ง

“ในสมัยที่ผมดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทราบว่าต่อให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ต่างจังหวัด แต่ถ้าครอบครัวยากจน เด็กก็ไม่ได้ศึกษาต่อ ผมจึงได้ออกนโยบายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ขึ้นมา ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าใจความยากลำบากของประชาชน จึงออกนโยบายช่วยเหลือเด็กด้านการศึกษา อย่างไรก็ตามเมื่อผู้ได้รับเงิน กยศ. จบการศึกษาและมีงานทำแล้ว ก็ควรที่จะใช้เงินทุนคืน เพื่อให้รัฐนำเงินทุนนั้นไปมอบต่อไปให้เด็กๆรุ่นต่อไป สิ่งนี้ก็เป็นความสุจริตประการหนึ่ง ” นายชวน กล่าว

Related Posts

Send this to a friend