POLITICS

‘โฆษกเพื่อไทย’ แนะ ‘ก้าวไกล’ ควรศึกษาเพิ่มให้ละเอียด ปมร่าง กม.รับรองเพศ

‘โฆษกเพื่อไทย’ แนะ ‘ก้าวไกล’ ควรศึกษาเพิ่มให้ละเอียด ปมร่าง กม.รับรองเพศ เหตุคาบเกี่ยวหลายกระทรวง หวั่นกระทบสิทธิประชาชน

วันนี้ (20 ก.พ. 67) นายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย นางสาวชญาภา สินธุไพร สส.ร้อยเอ็ด และรองโฆษกพรรคเพื่อไทย นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวท่าทีของพรรคเพื่อไทย ต่อร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567

นายดนุพร กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยได้ศึกษาร่างกฎหมายดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว และเห็นด้วยในหลักการและแนวคิดดังกล่าว ควรถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของพี่น้องประชาชนทุกคน ตามที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่จากการศึกษารายละเอียดเนื้อหาเบื้องต้นพบว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้มีความเกี่ยวพันกับกฎหมายฉบับอื่นที่ร่างกฎหมายยังให้รายละเอียดไม่ชัดเจนเพียงพอ ทั้งประเด็นของคำนำหน้านาม ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควรต้องมีร่าง พ.ร.บ.บัตรประชาชน (คำนำหน้านาม) สิทธิทางการรักษาพยาบาลและในทางการแพทย์ เกี่ยวข้องกับกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องมีร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ หรือ สิทธิของแรงงาน (การลาคลอด การลาบวช ฯลฯ) เกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงาน ต้องมีร่างเฉพาะด้วยเช่นกัน รวมถึงประเด็นการแข่งขันกีฬา ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจต้องมีร่างที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาประเภทต่าง ๆ ด้วยหรือไม่

รวมทั้งขณะนี้เป้าหมายใหญ่คือ การปรับแก้กฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่ต้องเดินหน้าต่อ หากร่างกฎหมาย ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดก่อนอาจมีเนื้อหาที่ขัดกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่กำลังผลักดัน และอาจทำให้ต้องมีการรื้อร่างกฎหมายสมรสเทียม ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในการพิจารณาของสภา ทางพรรคเพื่อไทย เห็นว่า ร่างกฎหมายนี้ควรต้องนำกลับไปศึกษาให้รอบคอบ รอบด้าน และควรให้ครอบคลุมกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอีกหลายกระทรวงจะดีที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับนายเศรษฐา​ ทวี​สิน​ นายก​รัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​การคลัง​ ที่มีนโยบายส่งเสริมอัตลักษณ์ความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งได้ผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม และได้มอบหมายให้กระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับคำนำหน้าในการคุ้มครองสิทธิความเท่าเทียม

นางสาวชญาภา กล่าวว่าจากการศึกษาข้อมูลของบางประเทศที่เปิดกว้าง และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างในบางประเด็น และยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ เช่น กรณีที่นักกีฬาว่ายน้ำข้ามเพศในสหรัฐอเมริกา ชนะการแข่งขันในรายการว่ายน้ำประเภทหญิง โดยสามารถทุบสถิติเดิม ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างหนักว่ามีความได้เปรียบเชิงกายภาพ จนต่อมานักกีฬาข้ามเพศท่านนั้นกำลังฟ้องศาลกีฬาโลก ให้ได้รับสิทธิแข่งขันในรายการผู้หญิง ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ถี่ถ้วน และรอบคอบ

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่าพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมเป็นอย่างมาก ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมองว่าร่างกฎหมายหลายเรื่องให้คุณค่า สิทธิและเสรีภาพของประชาชน เห็นได้จากการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.บ..สมรสเท่าเทียม ที่ให้ความสำคัญกับการใช้สิทธิของครอบครัว ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ สมรสเท่าเทียม ส่วนเรื่องของคำหน้านาม นาย นาง นางสาว เป็นเรื่องทางทะเบียน ซึ่งมองว่า หน่วยงานทางปกครอง ควรที่จะสามารถนำกฎหมายไปปฏิบัติได้ด้วย

Related Posts

Send this to a friend