สถาบันพระปกเกล้า เปิดตัว “BKK Follow-up” แพลตฟอร์รวมข้อมูล กทม. ก่อนตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ คนใหม่

สถาบันพระปกเกล้า จัดเวทีสัมมนา “แพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย (BKK Follow-up)” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลการสำรวจงบประมาณในรอบ 8 ปี ของกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. สามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน
นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การพัฒนาประชาธิปไตยที่สำคัญคือ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทำให้การติดสินใจของประชาชนดีและมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งการมีแพลตฟอร์มให้ประชาชนรู้ข้อมูล จะทำให้ดุลยพินิจของประชาชน ที่ตัดสินใจในอนาคต ทั้งการเลือกตั้งหรือการทำประชามติ เกิดประโยชน์มากขึ้น อย่างน้อยที่สุด คนกทม.จะมีข้อมูลเรื่องสำคัญที่กำลังเผชิญอยู่ ทั้งน้ำท่วม มลพิษ ขยะ ฝุ่น และงบประมาณ และขอประกาศว่า แพลตฟอร์มนี้เป็นกลางทางการเมือง ไม่เอื้อประโยชน์แก่ใคร เป็นเพียงการเปิดพื้นที่ข้อมูลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ด้าน ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารณ์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์งบประมาณในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาของกทม. ว่า งบประมาณที่กทม.ได้รับจัดสรรตั้งแต่ปี 2557- 2563 มีมากขึ้น โดยปี 2563 มียอดรวมงบประมาณ 91,943 ล้านบาท แต่ประชากรในกทม.มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ประชากรย้ายไปอยู่จังหวัดรอบนอกมากขึ้น นั่นหมายว่า กทม.มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่คนเข้าถึงและได้ประโยชน์จากงบประมาณของ กทม.จะลดลง
เมื่อดูการใช้จ่ายงบประมาณของกทม. ดร.พิชญ์ ระบุว่า งบสูงสุดคือการบริหารทั่วไป โดยีเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายหลัก รองลงมาคืองบประมาณด้านโยธา จราจร และความสะอาด ส่วนการจัดสรรงบประมาณรายเขต มีทั้งที่สอดคล้องกับจำนวนประชาชน และไม่สอดคล้อง โดยยังไม่ทราบสาเหตุ