POLITICS

กกพ.เล็งขึ้นค่าไฟเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ชี้ ก๊าซแพง แตะ 30 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู

กกพ.เล็งขึ้นค่าเอฟทีหน่วยละ 90-100 สตางค์ ทำค่าไฟปรับขึ้นเกือบ 5 บาทต่อหน่วย เหตุต้นทุนก๊าซแอลเอนจีนำเข้ามีราคาสูงต่อเนื่อง

วันนี้ (11 ก.ค. 65) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เตรียมพิจารณาทบทวนและปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) ในงวดใหม่เดือน ก.ย.- ธ.ค. 65 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 90-100 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งอาจทำให้ค่าไฟฟ้าต้องปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 5 บาทในช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะประกาศค่าเอฟทีอย่างเป็นทางการได้ ประมาณปลายเดือนนี้หรือต้นเดือนหน้า เนื่องจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) นำเข้าเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำในอ่าวไทย ยังคงมีแนวโน้มราคาแพงต่อเนื่อง โดยพุ่งสูงแตะระดับกว่า 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากเดิมที่กว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ถือเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ขณะที่ปริมาณก๊าซในอ่าวไทยยังขาดความชัดเจน เรื่องต้นทุนค่าเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ กกพ.ต้องเลือกดูแลความมั่นคงทางพลังงานเป็นอันดับแรก ก่อนจะดูแลผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าไฟฟ้าไม่ขาด ประชาชน และภาคธุรกิจมีไฟฟ้าใช้ ดังนั้นหากให้ กฟผ.แบกรับภาระทางการเงินแทนผู้ใช้ไฟฟ้าเกินกำลังต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลด้านลบต่อความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าระบบ ซึ่งการดูแลความมั่นคงทางด้านไฟฟ้าในการประกาศค่าเอฟทีตั้งแต่ต้นปี 65 กกพ. ได้ทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟทีโดยขอให้ กฟผ. ได้แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชนเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท และครม. ได้มีมติให้ กฟผ. กู้เงินมาเพื่อเสริมสภาพคล่องจำนวน 25,000 ล้านบาท ในช่วงที่มีการแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง

อีกประเด็นที่ กกพ.หนักใจ คือ ปัจจัยของความไม่แน่นอนจากปริมาณผลผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่ขาดช่วงไประหว่างการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติต้นทุนต่ำ และแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยจากเดิมมีปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณป้อนเข้าสู่ระบบได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์ลิตรต่อวัน แต่จนถึงขณะนี้ ผู้รับสัมปทานก็ยังไม่สามารถแจ้งปริมาณที่จะขยายกำลังการผลิตเพื่อชดเชยก๊าซที่ขาดหายไปได้อย่างชัดเจน ทำให้การบริหารจัดการ และการวางแผนทำได้ยากมากขึ้นด้วย ซึ่ง กกพ.ได้รับแจ้งเพียงว่า ระยะเวลาที่จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติกลับมามีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ในระดับเดิมก่อนเปลี่ยนสัมปทาน อาจจะต้องใช้ระยะเวลาสำรวจ ขุดเจาะ ผลิตอีกประมาณ 2 ปี หมายความว่า ค่าไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนเชื้อเพลิงราคาแพงจากการนำเข้าแอลเอ็นจี ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวอีกอย่างน้อย 2 ปีเช่นกัน และคาดการณ์ได้ว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะค่าไฟแพงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงปี 66 ตลอดทั้งปีด้วย

Related Posts

Send this to a friend