สนส. หารือ สภาทนายความ แก้ไขข้อบังคับการแต่งกายทนายความหญิง และเพศสภาพ
‘สนส.’ เข้าหารือ ‘สภาทนายความ’ แก้ไขข้อบังคับการแต่งกายของทนายความหญิง และเพศสภาพ ด้าน นายกสภาทนายความ เตรียมถอนฟ้อง วลพ. ต่อศาลปกครอง ยืนยัน แก้ไขข้อบังคับแน่นอน เตรียมประชุมกับคณะกรรมการสภาทนายฯ ก่อนส่ง รมว.ยุติธรรม พิจารณา
วันนี้ (17 ม.ค. 66) เวลา 10:30 น. ที่สภาทนายความในพระบรมราชูถัมถ์ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน โดย ณัฐาศิริ เบิร์กแมน นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, คอรีเยาะ มานุแช และพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายความ พร้อมด้วย พริม มณีโชติ จาก NitiHub เข้าพูดคุยหารือกับ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขข้อบังคับการแต่งกายของทนายความหญิงในการเข้าว่าความคดีในชั้นศาล
นางณัฐาศิริ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสมาชิกของสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่เป็นทนายความหญิง สวมใส่กางเกงไปว่าความ และถูกติเตียนจากผู้พิพากษา จึงได้มีการยื่นเรื่องถึงกรรมการของสภาทนายความ โดยมีทนายความเข้าชื่อถึง 126 คน เพื่อขอให้แก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับดังกล่าว แต่สภาทนายความกลับแจ้งว่าไม่ได้ห้ามให้ทนายความหญิงสวมใส่กางเกงเข้าว่าความ แม้จะมีจดหมายจากสภาทนายความแล้ว แต่ก็ยังมีทนายความที่ถูกติเตียนจากเรื่องดังกล่าวอยู่ หรือแม้แต่การว่าความออนไลน์ ทางศาลก็มีการขอให้ทนายความหญิงลุกขึ้นว่าสวมใส่กางเกงมาว่าความหรือไม่ โดยอ้างถึงข้อกำหนดของสภาทนายความที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องสวมใส่กระโปรงในการว่าความให้เรียบร้อย
ทั้งนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และ NitiHub เห็นตรงกันว่า ข้อกำหนดนี้เป็นข้อกำหนดที่เกิดขึันตามพื้นฐานทางเพศ และได้ยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการวินิจฉัยความเท่าเทียมทางเพศ ว่าข้อกำหนดของสภาทนายความเป็นไปตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศ พ.ศ.2558 หรือไม่ ซึ่งในวันที่ 24 พ.ย. 64 คณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศ วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดดังกล่าว เป็นความขัดกัน และขอให้สภาทนายความเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมทางเพศภายใน 90 วัน โดยในขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 50 วันจึงได้มาติดตามความคืบหน้าในกรณีนี้
ด้าน พริม มณีโชติ ระบุว่า กว่า 17,000 รายชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่นักกฎหมายที่จับตามองประเด็นนี้อยู่ แต่พบว่าหัวข้อดังกล่าวมีทั้งสื่อมวลชน และสังคมก็ต่างจับตามองในการพูดถึงสิทธิความหลากหลายทางเพศอย่างเป็นวงกว้าง ฉะนั้นการที่ทนายความไม่สามารถปกป้องสิทธิของตัวเองได้ในสังคม มันจึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้ลูกความ และประชาชนเชื่อว่าจะสามารถปกป้องสิทธิของพวกเขาได้ ถ้าแม้แต่เครื่องแต่งกายของตนเองยังไม่สามารถกำหนดได้
ดังนั้นประเด็นดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องของคนในวิชาชีพ แต่คือเรื่องของทุกคน และขอขอบคุณช่วงของการเลือกตั้งสภาทนายความ ที่ได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพูดคุยกัน ซึ่งพวกเราอยากเห็นความมั่นใจ และจุดยืนว่าทนายความไม่ว่าจะเป็นเพศไหนสามารถแต่งกายได้อย่างสุภาพ โดยไม่ต้องมีกรอบที่ขัดกับการละเมิดสิทธิ และการเลือกปฎิบัติทางเพศ
ด้าน ดร.วิเชียร เปิดเผยว่า ข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยการแต่งกายไปว่าความคดี มีที่มาจากเนติบัณฑิตยสภา ที่กำหนดข้อบังคับการแต่งกายว่าสุภาพสตรีต้องใส่กระโปรง ซึ่งข้อบังคับนั้นมีมาก่อนของสภาทนายความ จนเกิดการฟ้องร้องเรื่องดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา โดยสภาทนายความเร่งเห็นความสำคัญกับการเท่าเทียมทางเพศ จึงได้มีการประชุมหารือจนมีข้อมติว่า ให้แก้ข้อบังคับของสภาทนายความให้รองรับเพศสภาพในปัจจุบัน รวมทั้งในการสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตการเป็นทนายความก็ได้อนุญาตให้สุภาพสตรีใส่กางเกงเข้าสอบได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีมติให้ไปถอนฟ้องที่สภาทนายความเคยยื่นฟ้องหน่วยงานนึง เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายของเพศสภาพ
อีกทั้ง ตนเองได้ตั้งคณะทำงานการแก้ไขข้อบังคับขึ้นมา แต่เรื่องดังกล่าวจะต้องไปจบที่นายกสภาพิเศษ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยภายในเดือนนี้ เราจะมีการประชุม และอนุมัติระเบียบที่แก้ไข และส่งมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อที่จะดำเนินการตามข้อบังคับของกฎหมายต่อไป
ดร.วิเชียร กล่าวยืนยันว่า ข้อบังคับการแต่งกาย จะมีการแก้ไขให้อย่างแน่นอน ส่วนรายละเอียดในข้อบังคับนั้น ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการยกร่างอยู่ จะนำเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการสภาทนายความในปลายเดือนนี้
ผู้สื่อข่าวสอบถามในกรณีทนายความที่ถูกตักเตือนเรื่องการแต่งกาย ทางสภาทนายความจะมีวิธีการใดในการทำให้เกิดการสอดรับกับสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้น ดร.วิเชียร ระบุว่า ศาลคงยึดกฎระเบียบของศาล ซึ่งเป็นอำนาจของศาล หากศาลจะผ่อนปรนอย่างไรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล สภาทนายความไม่สามารถก้าวล่วงได้
ส่วนกรอบเวลาหลังจากประชุมกับคณะกรรมการสภาทนายความในการแก้ไขข้อบังคับการแต่งกาย จะใช้เวลาหลังจากประชุมหารือกันเสร็จไม่เกิน 7 วัน ก็จะส่งไปที่สภานายกพิเศษ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนกรอบการพิจารณาของรัฐมนตรีจะอยู่ที่กี่วัน ต้องรอทางรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณา
ขณะที่ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฎิบัติการ สภาทนายความ ระบุว่า ในบางส่วนของการหารือวันนี้ กฎหมายยังมีผลอยู่ที่จะต้องมีการแก้ไขข้อบังคับ ก็ขอความร่วมมือว่า ยังไม่สามารถออกระเบียบใหม่ หากถูกตำหนิติเตียนมา ก็ขอให้ปฎิบัติตามไว้ก่อน
พร้อมชี้แจงกรณีที่สภาทนายความยื่นฟ้องคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ต่อศาลปกครองคดีพิพาทกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังคณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยให้สภาทนายความแก้ไขกฎการแต่งกายเพื่อรองรับความหลากหลายทางเพศนั้น เปิดเผยว่า คณะที่ฟ้องคือสภาทนายความชุดก่อน ซึ่งเมื่อชุดของตนเข้ามาจึงได้มีการประสานกับชุดก่อน แต่ไม่ได้รับคำตอบ จึงมีมติที่ประชุมว่า จะดำเนินการถอนฟ้อง และดำเนินการเรียบร้อยในคดีดังกล่าวในวันพรุ่งนี้
นายสัญญาภัชระ กล่าวทิ้งท้ายว่า เราเข้ามาโดยมติส่วนของสภาทนายความ เขาคงเล็งเห็นความสามารถของ ดร.วิเชียร เพราะฉะนั้นเราจะพยามทำทุกด้านเท่าที่เราจะทำกับสังคมได้ และขอให้ไว้วางใจ และขอให้ทำตามระเบียบข้อบังคับไปก่อน ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าในอนาคตเราจะมีการเปลี่ยนแปลง