POLITICS

แก้ปัญหาผู้หนีภัยสู้รบจากเมียนมา ไทยต้องปรับ นโยบาย เปลี่ยนผู้ลี้ภัยให้เป็นแรงงานถูก กม.

ปลดล็อค ปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาที่ยืดเยื้อกว่า 30 ปี รัฐไทยต้องปรับนโยบายที่ไม่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เปลี่ยนผู้ลี้ภัยให้เป็นแรงงานถูกกฎหมายและยอมรับว่าปัญหาภายในเมียนมา ผลพวงจากรัฐประหาร ทำให้การส่งกลับผู้ลี้ภัยเกือบ 1 แสนคน ยังมองไม่เห็นอนาคต

ต้องยอมรับก่อนว่า วงจรปัญหาผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ไม่สามารถแก้ไขด้วยแนวทางแก้ไขปัญหาแบบถาวร ของสหประชาชาติ แต่ไทยต้องประยุกต์แนวทางแก้ไขให้สอดรับกับสภาพปัญหาที่แท้จริงในบริบทของภูมิภาค

การแก้ไขปัญหาแบบถาวร (durable solutions) เรื่องผู้ลี้ภัย ตามกรอบการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศมีด้วยกัน 3 แบบ อันแรกเป็นการแก้ไขที่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจ (voluntary repatriation) ซึ่งผู้ลี้ภัยสามารถเดินทางกลับประเทศต้นกำเนิดได้โดยสมัครใจ เมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย อย่างที่สองคือ การรองรับผู้ลี้ภัยในประเทศขอลี้ภัย (local integration) ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประเทศที่รับผู้ลี้ภัยมีนโยบายรองรับที่ชัดเจน และทางสุดท้ายคือ การตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม (resettlement) ขึ้นอยู่กับโควต้าจากประเทศผู้รับไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ซึ่งตามสถิติแล้วจำนวนผู้ลี้ภัยต่อปีในการตั้งถิ่นฐานใหม่ฯ นั้นน้อยกว่า 1% จำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก

มากกว่า 30 ปีแล้วที่ผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาได้อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวฯ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด (แม่ฮ่องสอน 4 แห่ง ตาก 3 แห่ง กาญจนบุรี และราชบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง) ทั้งนี้ เมื่อเดือนพ.ย. 2564 จำนวนผู้หนีภัยฯ ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียนอย่างเป็นทางการกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) มีจำนวนรวมประมาณ 91,000 คน

ประเทศไทยซึ่งยังไม่ได้ลงนามและให้สัตยาบันกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และพิธีสารในเรื่องเดียวกัน ปี ค.ศ. 1967 จึงยังไม่มีพันธกรณีระหว่างประเทศในการดูแลผู้ลี้ภัยภายในกรอบกฎหมายระหว่างประเทศทั้งสอง โดยเฉพาะด้านการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ (international protection) ต่อผู้ลี้ภัย หากแต่ทางการไทยได้อนุโลมเพื่อดูแลผู้หนีภัยการสู้รบตามหลักมนุษยธรรมสากลมาเป็นระยะเวลาช้านาน

ทำไมพื้นที่พักพิงผู้หนีภัยฯ ซึ่ง ให้คำจำกัดความว่า “ชั่วคราว” ยังมีอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทยมากกว่า 30 ปี และยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งในหลายครั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความต้องการให้พื้นที่พักพิง “ชั่วคราว” กลายเป็น “ถาวร” เนื่องจากผลประโยชน์หลากหลายภายใน ทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง การลักลอกขนผู้หนีภัยออกไปเป็นแรงงานราคาถูกข้างนอก ธุรกิจภายในพื้นที่พักพิง ฯลฯ

หากแต่สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นี้เป็นเพียงแค่ปลายเหตุของการมีพื้นที่ที่เป็นการบริหารจัดการแบบพิเศษ เป็นระยะเวลามากกว่า 3 ทศวรรษ จึงจำเป็นต้องไปดูที่ต้นเหตุของปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลาอันนานนี้ นั่นคือสภาพการเมืองในเมียนมา ที่เป็นตัวแปรหลัก อีกทั้ง คำว่า “ชั่วคราว” ทำให้การมองปัญหาของทางการไทย เน้นไปที่การแก้ให้รวดเร็ว โดยการมองไปที่การลดจำนวนประชากรในพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้ได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น หากแต่ลืมคิดถึงรากเหง้าแห่งปัญหา นั่นคือการเมืองภายในเมียนมา ที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเหมือนหอกข้างแคร่ที่คอยซ้ำเติมให้ต้องอยู่กับคำว่า “ชั่วคราว” ให้ต่อเนื่องยาวนาน

ประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศผู้รับ และองค์การสหประชาชาติ อย่าง UNHCR และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) รวมถึงองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ต่างๆ ในการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 ของผู้หนีภัยจากพื้นที่พักพิงฯ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2004 ที่ได้ลดจำนวนประชากรในพื้นที่พักพิงฯ มากกว่า 120,000 คน แต่ยังเหลือผู้หนีภัยฯ กว่า 91,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว จำนวน 9 แห่งในไทย

ในขณะเดียวกัน ทางการไทยและทางการเมียนมา ได้ร่วมมือกันในโครงการการเดินทางกลับประเทศมาตุภูมิโดยสมัครใจ ตั้งแต่ปี 2016 – 2019 เป็นจำนวน 4 ครั้ง โดยมีผู้หนีภัยฯ เข้าร่วมจำนวน 1,039 คน รวม 270 ครัวเรือน ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบให้ชะลอโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือน มีนาคม 2020 และสถานการณ์การเมืองภายในเมียนมา หลังการรัฐประหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ได้ทำการ “Set Zero” ให้กับโครงการส่งกลับฯ ไปโดยปริยาย ต่อจากนี้ไปโครงการการเดินทางกลับฯ คงต้องพักไปอีกอย่างยาวนาน

ก่อนเกิดการรัฐประหาร ทางการเมียนมาและไทย ได้ตกลงในหลักการของโครงการนำร่องตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมต่อสถานการณ์ผู้หนีภัยชาวเมียนมา ในส่วนของโครงการที่เรียกว่า “U-Turn” (หนึ่งในหลายๆแผนตามแผนแม่บท) กล่าวคือ จะนำพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านต้นยาง จ.กาญจนบุรี เป็นพื้นที่นำร่องในการส่งกลับผู้หนีภัยทุกคนกลับประเทศ และปิดพื้นที่พักพิงฯ อย่างถาวร โดยเมื่อผู้หนีภัยฯ คนใดมีความประสงค์ในการกลับมาทำงานที่ประเทศไทยก็สามารถแจ้งเจตจำนงและทำบัตรเอกสารสำคัญแสดงตนหลังจากได้กลับเมียนมาแล้ว และเดินทางกลับมาทำงานในไทยได้อีกครั้ง ซึ่งทำให้ประชากรผู้หนีภัยฯ มีความหวังในการกลับมาทำงานในไทย หากแต่การรัฐประหารได้พรากความเป็นไปได้ในโครงการอันนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

หากดูกลับไปยังแนวทางการแก้ไขแบบถาวรเรื่องการรองรับผู้ลี้ภัยในประเทศขอลี้ภัย (local integration) ของสหประชาชาติแล้ว ก็อาจเป็นไปได้ เพียงแต่บริบททางกฎหมายและระเบียบต่างๆ ของทางการไทยคงไม่ยินยอมให้ผู้หนีภัยฯ เดินออกจากพื้นที่พักพิงฯ แล้วตั้งรกรากอย่างถาวรในไทยได้อย่างแน่นอน

ดังนั้น หากประเทศไทยได้มองปัญหาดังกล่าวอย่างลึกซึ้งและมีความประสงค์จะแก้ไขปัญหาที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 30 ปีแล้วนั้น ไทยจำเป็นต้องวิเคราะห์บริบทต่างๆ ในหลายๆ มิติ

อย่างแรก คำว่า “ชั่วคราว” ต้องไม่มีนัยยะต่อสถานการณ์เรื่องผู้หนีภัยในพื้นที่พักพิงฯ อีกต่อไป กล่าวคือ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์นี้เป็นสถานการณ์ที่ยืดเยื้อ และทางการไทยควรปรับตัวเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยไม่มองว่าเป็นปัญหาและผลักภาระไปให้องค์การระหว่างประเทศ NGOs องค์กรชุมชน (CBOs) และองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ต่างๆ

สอง รัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการกำหนดกรอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาในไทย เนื่องจากการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมและยั่งยืนต้องไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่งานด้านความมั่นคงเพียงอย่างเดียว ปัจจุบัน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และ หน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาเสนอแนวทางต่างๆ ต่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ มี นายกรัฐมนตรี หรือ รอง นรม. ผู้ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน ทำให้กรอบคิดด้านนโยบายมุ่งไปในด้านความมั่นคงเป็นหลัก โดยที่การพัฒนา หลักสิทธิมนุษยชน และมนุษยธรรม รวมอยู่ด้วยน้อยมาก

สาม ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนและถาวร นั้นต้องสนับสนุนความคิดเรื่องหลักสิทธิมนุษยชนให้มากโดยเฉพาะเรื่องการพึ่งพาตนเองและการฟื้นฟู (self-sufficiency and resilience) เนื่องจากการที่ควบคุมผู้หนีภัยฯ ไว้ในพื้นที่พักพิงฯ เป็นเวลามากกว่า 30 ปี โดยมีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตลอดเวลา เป็นการสร้างภาวะพึ่งพิงแบบต่อเนื่อง ซึ่งได้ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หนีภัย ไปโดยปริยาย เพราะตามหลักการ ผู้หนีภัยห้ามออกจากพื้นที่พักพิงฯ นอกจากกรณีจำเป็นและได้รับการอนุมัติจากทางหัวหน้าพื้นที่พักพิง

ข้อเสนอในทางออกต่อสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวคือ

1) ปรับข้อกฏหมายแรงงาน ให้สามารถสนับสนุนผู้หนีภัยให้สามารถประกอบอาชีพตามความถนัดได้ อาจทำร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาในไทยด้วย

2) ศึกษาความต้องการแรงงานในประเทศไทยตามความถนัดของผู้หนีภัยภายในพื้นที่พักพิงฯ ทั้งแรงงานมีทักษะและไม่มีทักษะ

3) ผู้ใดได้ประกอบอาชีพแล้วให้ตัดออกจากทะเบียนผู้หนีภัยโดยทันที

เหตุผลและหลักการสำคัญ คือ สถานการณ์การเมืองภายในเมียนมา ตกต่ำลงเรื่อยๆ ผู้หนีภัยไม่สามารถเดินทางกลับได้ และเปลี่ยนผู้หนีภัยให้เป็นแรงงานต่างด้าวทำงานถูก กม. จะทำให้ภาษีเข้ารัฐมากขึ้น ทั้งจากนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งมากกว่า 65% ของผู้หนีภัยอยากประกอบอาชีพอย่างถูกต้องในไทย ก็จะสามารถลดจำนวนผู้หนีภัยและพื้นที่พักพิงฯ ทำให้ปัญหาความมั่นคงลดระดับลงไป ประกอบกับสอดคล้องกับภาวะด้านโครงสร้างประชากรของประเทศไทยเราเองที่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและกรมกิจการผู้สูงอายุบ่งชี้ว่า

ปัจจุบันเราได้เข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Agaed Society) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีแนวโน้มก้าวไปสู่ความเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ที่จะมีประชากรสูงอายุเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมดภายใน 20 ปีข้างหน้า ภาวะด้านโครงสร้างประชากรของสังคมเราที่กลุ่มผู้สูงอายุมีจำนวนมากกว่าร้อยละ 16 ในปัจจุบัน และวัยแรงงานมีอยู่เพียงแค่ราวร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด เป็นโจทย์ที่ทำให้การเปลี่ยน “การหนีภัย” เป็น “การย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพ” นำเข้าระบบบริหารจัดการภายใต้กฎหมาย จะตอบโจทย์เชิงโครงสร้างประชากรให้กับไทยไปด้วยในตัว ทั้งในเชิงการเติมเต็มกำลังแรงงานที่พร่องไปอันจะหนุนเสริมให้ไทยคงความสามารถในการผลิตและการแข่งขันทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ และในเชิงของผลย้อนกลับในรูปภาษีที่จะช่วยเติมรายรับที่นับเป็นรายได้ของรัฐบาลสำหรับดูแลสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุของเราที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หากทำได้ ปัญหาจลาจล ไฟไหม้รายปี ปัญหาการลดค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอีกหลายๆ ปัญหาที่สะสมมานานนับ 30 กว่าปี จะหมดไป ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องมองเชิงวิเคราะห์ในระดับนโยบายของประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติสามารถทำได้จริง และตอบโจทย์ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โครงการ “U-Turn” ในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยฯ อาจจะชะงัก แต่เราร่วมกันเปลี่ยนมันเป็น “We-Turn” เดินหน้าสร้างไทยร่วมกันได้

Related Posts

Send this to a friend