POLITICS

รัฐบาล ยกระดับการจัดการขยะมูลฝอยทั่วประเทศ หลังพบยังจัดการได้ต่ำกว่าเป้า

วันนี้ (5 พ.ย. 65) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเน้นย้ำการจัดการขยะทั่วประเทศให้ได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 80 ยกระดับการบริหารจัดการขยะมูลฝอย โดยให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ ณ ต้นทาง ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) ครอบคลุมถึงการกำจัดขยะ ณ ปลายทาง เพื่อนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG

โดยแนวทางการจัดการขยะ เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2570) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 65 โดยแผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 จะเป็นแผนที่ดำเนินการต่อเนื่องจากแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย (พ.ศ. 2559 – 2564) มีผลการดำเนินการ เช่น การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้อง สำเร็จร้อยละ 69 (เป้าหมายร้อยละ 75) การจัดการของเสียอันตรายชุมชน สำเร็จร้อยละ 22 (เป้าหมายร้อยละ 30) และการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ สำเร็จร้อยละ 90.85 (เป้าหมายร้อยละ 100)

ทั้งนี้ พบว่าส่วนใหญ่ยังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด จากปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของรัฐและเอกชนส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ระบบติดตาม กำกับและควบคุมการดำเนินงานของสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยยังไม่ทั่วถึงและเพียงพอ รวมถึงกฎหมายในการจัดการขยะมูลฝอยในปัจจุบัน ที่ไม่สามารถกำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดำเนินการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้น แผนปฏิบัติการฯ ฉบับที่ 2 จึงเน้นการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่ และการบริหารจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับแผนปฏิบัติฯ ฉบับที่ 2 มีเป้าหมายที่สำคัญ เช่น ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 80 , ของเสียอันตรายชุมชมได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ 50 และมูลฝอยติดเชื้อได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง ร้อยละ100 ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการจัดการที่ครอบคลุม ทั้งการจัดการขยะพลาสติก ขยะบรรจุภัณฑ์ ขยะอาหาร ขยะมูลฝอยชุมชน ของเสียอันตรายชุมชน ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มูลฝอยติดเชื้อ และกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย

โดยให้ความสำคัญกับการจัดการ ณ ต้นทาง ตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกันการเกิดขยะ ตั้งแต่การออกแบบการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืนโดยเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิล มีระบบการคัดแยก ณ แหล่งกำเนิด เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material recovery) และพลังงาน (Energy recovery) เพื่อให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด (Final disposal)

Related Posts

Send this to a friend